เลือกตั้งและการเมือง

สภาวุ่น! สส.เพื่อไทย ไล่ "หมออ๋อง" ลาออกปมบุกทำเนียบ

โดย paranee_s

6 มี.ค. 2567

1.9K views

ก่อนจะเข้าสู่ระเบียบวาระ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน นายชัยวัฒนา ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ได้ใช้สิทธิลุกขึ้นหารือต่อการทำหน้าที่ของนายปดิพันธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราฎษร หลังเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่ตนเองไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายปดิพัทธ์ ที่ถือเป็นตัวแทนประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ บุกทำเนียบรัฐบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญ กำหนดอำนาจหน้าที่ให้ดำเนินกิจการของสภา ให้เป็นไปตามข้อบังคับวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่


แต่จากการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และไม่สมควร แม้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล จะได้ให้สัมภาษณ์กลับสื่อมวลชน และย้อนถามกลับถึงการกระทำของนายปดิพัทธ์ว่า ไม่เหมาะสมตรงไหน แต่นี่คือเกียรติยศ และศักดิ์ศรีของ สส. ซึ่งรัฐธรรมนูญได้แบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ไม่ก้าวล่วงกัน แต่ตัวแทนประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ กลับบุกฝ่ายบริหาร เพื่อทวงถามร่างกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน


จนทำให้นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงนายชัยวัฒนา ที่เห็นว่า นายปดิพัทธ์ ใช้อำนาจล้นเกินหรืออาจมีองค์กรอิสระอื่น ๆ ใช้อำนาจล้นเกินสภา ก็ขอให้เสนอเป็นญัตติ เพื่อให้ สส.ได้ช่วยกันพิจารณา ทั้งวันก็ยินดี และตนเองก็ไม่ชอบ ที่จะกล่าวว่า ใครอยู่มาก่อน หรือใครอยู่มาหลัง เพราะประชาชนจะเป็นคนตัดสิน ก่อนที่นายพิเชษฐ์ จะระบุว่า เมื่อนายปดิพัทธ์ ขึ้นมาทำหน้าที่แล้ว ก็จะได้มาชี้แจงประเด็นดังกล่าวต่อที่ประชุม


ด้าน นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ได้ขอลุกขึ้นหารือถึงการทำหน้าที่ของนายปดิพัทธ์ว่า เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เพื่อติดตามร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วพอสมควร ไม่ใช่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป 6-7 เดือน เพราะ สส.เป็นผู้เสนอกฎหมาย


ดังนั้น การทำหน้าที่ของนายปดิพัทธ์ จึงเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำ และไม่ควรตำหนิว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบโดยรัฐธรรมนูญ หรือหาก สส.ต้องการให้ศึกษาอำนาจหน้าที่การทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร องค์กรอิสระ หรือตุลาการอื่นว่า อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเพียงองค์กรเดียวที่ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้ง


จนทำให้ นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า ตนเองชื่นชมการทำหน้าที่ของนายปดิพัทธ์ และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่การเสนอกฎหมาย เช่น ร่างพระราชบัญญัติไร่อ้อย และน้ำตาล ที่ตนเองเสนอได้มาในปี 2562 แต่กว่าที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี จะลงนาม ก็เป็นเวลาเกือบ 2 ปี เพราะเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน


ซึ่งระหว่างที่นายธีระชัย กำลังอภิปรายอยู่นั้น นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นประท้วง และให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น ทำหน้าที่ประธานการประชุม เดินหน้าเข้าสู่วาระการประชุม เพื่อไม่ให้เป็นการเตะถ่วงร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน จนทำให้นายธีระชัย ไม่พอใจ และเรียกร้องให้ นายปดิพัทธ์ ลาออก เพื่อรักษาศักดิ์ศรี เข้าตามตรอก ออกตามประตู ให้ได้รับการต้อนรับอย่างดีในการประสานงาน เพราะการไปทำเนียบฯ ดังกล่าว เป็นการโคจรไป ไม่มีใครมาต้อนรับ


ก่อนที่นายประเสริฐพงษ์ จะลุกขึ้นประท้วงอีกครั้ง จนทำให้นายธีระชัย ไม่พอใจ แม้นายพิเชษฐ์ จะปิดไมโครโฟนแล้ว ก็ยังตะโกนลั่น ก่อนที่นายพิเชษฐ์ จะเรียกเจ้าหน้าที่ และสั่งให้นายธีระชัย หยุดการอภิปรายและนั่งลง เพื่อเดินหน้าเข้าสู่การประชุมตามปกติ


ขณะที่นายครูมานิตย์ สังฆ์พุ่ม สส. ลุกขึ้นหารือและตัดบท เพื่อไม่ให้สส.พรรคก้าวไกลมองว่าเป็นการเตะทวง การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ขอให้เรื่องนี้นายปดิพัทธ์มาชี้แจงเองเมื่อขึ้นมาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม


ทั้งนี้นายพิเชษฐ์ จึงได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาฯว่า ในสัปดาห์หน้า ตนเองจะเรียกประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล, คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน และผู้แทนคณะรัฐมนตรี หารือร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ระหว่างที่รอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม


พร้อมยืนยันว่า การทำหน้าที่ของรองประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคน แล้วแต่ดุลยพินิจของประธาน และรัฐบาล หลัง สส.พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นอภิปราย แสดงความไม่พอใจต่อการทำหน้าที่ของนายปดิพัทธ์

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ