สังคม

สธ.จ่อปลดล็อกเงื่อนไข ‘อุ้มบุญ’ หนุนสามีภรรยาอยากมีลูก แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย

โดย petchpawee_k

2 มี.ค. 2567

267 views

เมื่อวานนี้ (1 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นประธานการแถลงข่าว “สบส. ส่งเสริมการมีบุตร ทางเลือกสำหรับผู้มีบุตรยากเพื่อเข้ารับบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์”  ว่าสถานการณ์การเกิดของประเทศไทยในปัจจุบันลดลงอย่างมาก โดยปี 2566 มีการเกิดใหม่ไม่ถึง 500,000 คน และมีแนวโน้มลดลงในปี 2567 ด้วย ในขณะที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่าปีละ 800,000 คน จึงทำให้ประชากรของประเทศลดลง และสังคมผู้สูงอายุจะสูงมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งจะเป็นปัญหาในการพัฒนาประเทศต่อไป


รัฐบาลจึงได้วางกลยุทธ์ที่จะทำให้ผู้มีบุตรยากสามารถเข้าถึงบริการและสามารถมีบุตรได้มากขึ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ แต่ในส่วนของ สธ.นั้นได้ประกาศเป็นนโยบายหลักของกระทรวงแล้ว โดยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ซึ่งเปิดโอกาสให้คู่สมรสที่มีบุตรยากมีบุตรได้ตามต้องการมากขึ้น


นพ.สุระกล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานบริการที่ให้บริการผสมเทียม เด็กหลอดแก้ว และการอุ้มบุญ รวม 115 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาล (รพ.) ของรัฐ 17 แห่ง รพ.เอกชน 31 แห่งและคลินิกเอกชน 67 แห่ง ทั้งนี้ การมีบุตรยาก ประกอบด้วย 1.คู่สมรสที่ยังสามารถมีบุตรได้ จะใช้วิธีการฉีดน้ำเชื้ออสุจิของสามี เข้าไปในโพรงมดลูกของภรรยา เรียกว่าการผสมเทียม ซึ่งมีการให้บริการประมาณปีละ 12,000 รอบการรักษา, การผสมเด็กหลอดแก้ว ซึ่งมีการให้บริการประมาณปีละ 20,000 รอบการรักษา และ 2.คู่สมรสที่ตั้งครรภ์เองไม่ได้ เรียกสั้นๆ ว่า “อุ้มบุญ” ซึ่งที่ผ่านมา มีการให้อนุญาตแล้ว 754 ราย และไม่ได้รับอนุญาตอีก 22 ราย เนื่องจากการอุ้มบุญจะต้องดูความพร้อมจากหลายด้าน


อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จของการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทั้ง 3 วิธี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 แต่การอุ้มบุญนั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ส่วนใหญ่ประชาชนก็จะเลือกใช้วิธีผสมเทียม เด็กหลอกแก้ว โดยนโยบายส่งเสริมการมีบุตร ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้เข้ามารับบริการในแต่ละวิธีไม่น้อยกว่าปีละ 100 ราย


ทางด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยมีเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์อัตราความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก ปี 2566 ประมาณร้อยละ 2.5 คือ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46 เป็นร้อยละ 48 นั่นหมายความว่า ประเทศไทยมีการยกระดับการให้บริการเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ และเราไม่ได้แพ้ชาติใดในโลก


ดังนั้น ในปี 2567 สบส.จะมีการปรับแก้กฎหมายมากขึ้น ได้แก่ 1.การรับบริจาคไข่ โดยสามารถให้ญาติสืบสายโลหิตของภรรยาอายุตั้งแต่ 20-40 ปี บริจาคไข่ได้โดยไม่ต้องผ่านการสมรสเป็นผู้บริจาคไข่ 2.ให้ภรรรยาที่มีอายุ 35 ปี สามารถทำการตรวจโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนได้ เพื่อทำให้ตัวอ่อนเกิดอย่างมีสุขภาพที่ดี 3.การปรับแก้เพดานอายุหญิงที่เป็นภรรยาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยหญิงอื่น หรือการให้หญิงอื่นอุ้มท้องแทน จากเดิมหญิงอายุเกิน 55 ปี ไม่สามารถให้หญิงอื่นอุ้มบุญแทนได้ ขณะนี้มีการปลดล็อกให้อายุมากกว่า 55 ปี สามารถดำเนินการได้


และ 4.เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์แทน จึงมีการยกระดับการประกันคุ้มครองสุขภาพหญิงตั้งครรภ์แทน ซึ่งตอนนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมประกันภัย กำลังหารือเรื่องกรมธรรม์กันอยู่


 ซึ่งเร็วๆ นี้คาดว่าจะข่าวดีสำหรับการทำประกันของหญิงตั้งครรภ์แทน” ทพ.อาคมกล่าว และว่า การปรับเพดานอายุหญิงที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนนั้น เนื่องจากปัจจุบันคนที่อยากจะมีลูก ก็เก็บไข่ไว้ตั้งแต่ 30 ปี และบางรายอาจมีการสมรสตอนอายุ 60 ปี หญิงรายนี้ก็จะสามารถเอาตัวอ่อนของตัวเองที่เก็บไว้ ไปผสมกับอสุจิของสามี หรือรับบริจาคอสุจิ จากนั้นก็นำไปฝากกับแม่อุ้มบุญตามกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกคนในเครือญาติในฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายก่อน ถ้าไม่ได้ก็สามารถไปหาหญิงอื่นที่พร้อมรับอุ้มบุญที่เคยมีบุตรมาแล้ว    


รองอธิบดี สบส.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ สบส.อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. … ฉบับใหม่ ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของโทษปรับ ในส่วนของการอุ้มบุญนั้น เดิมในกฎหมายระบุว่า หญิงหรือชายจะต้องเป็นคนไทย แต่ขณะนี้อนุกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. รายมาตรา ได้มีการเสนอให้สามารถอนุญาตให้ชาวต่างชาติ ที่เป็นคนต่างชาติทั้งคู่ เข้ามารับบริการทำอุ้มบุญในประเทศไทย ซึ่งหญิงที่จะใช้อุ้มบุญนั้นคู่สมรสสามารถพามาเองได้ หรือสามารถใช้หญิงไทยในการตั้งครรภ์แทน แต่ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกลไกกฎหมาย และตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการยังไม่ได้กำหนดเงื่อนไข จึงต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ. ดำเนินการไปถึงขั้นนั้นก่อน


“หาก ร่าง พ.ร.บ. นี้สำเร็จ จะถือเป็น พ.ร.บ. ฉบับแรกของโลก และตอนนี้ เป็นที่จับตาของชาวต่างชาติอยู่ ดังนั้น ถ้าเราเปิดเมื่อไร กลไกของเศรษฐกิจสุขภาพน่าจะเข้ามาพอสมควร” ทพ.อาคมกล่าว และว่า ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีการวางแนวทางป้องกันการลักลอบค้ามนุษย์ ซึ่งจะมีรายละเอียดแนวทางต่างๆ ที่จะป้องกันการค้ามนุษย์ในประเทศไทย หรือการส่งออกมนุษย์ไปต่างประเทศด้วย



https://youtu.be/bONOqBXzTTI

แท็กที่เกี่ยวข้อง  อุ้มบุญ

คุณอาจสนใจ