เลือกตั้งและการเมือง

กลยุทธ์สร้างอีสานใหม่ ! ‘อนุทิน’ เปิดหมดทุกยุทธศาสตร์ นับหนึ่ง สร้างชุมชนเข้มแข็ง สู่การพัฒนาคนให้ทันโลก

โดย attayuth_b

21 ก.พ. 2567

20 views

วันนี้ (21 ก.พ.)  ณ ห้องประชุมวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว ปาฐกถาพิเศษ ในวาระฉลองครบรอบ 60 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เศรษฐกิจฐานรากกับการขับเคลื่อนอีสานใหม่ “Mobilizing New Isan for the Future of Thailand” ใจความตอนหนึ่งว่า

ภูมิภาคนี้ คือ ภูมิภาคแห่งโอกาส รัฐบาลมียุทธศาสตร์ที่วางไว้ เพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแผนการที่ชื่อว่า ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน มีฐานอยู่ที่นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ ผนวกกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภาคอีสานโดยรวม ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ไทยตั้งเป้า เพิ่มมูลค่าการเติบโตเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy ที่ 4.4 ล้านล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนถึง 24% ของจีดีพี ภายในปี 2569

นี่คือโอกาสที่เข้ามา และเราต้องพร้อมในการเปิดรับโอกาส กลยุทธ์ ประกอบไปด้วย ข้อแรก เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน ตนถึงได้เร่งแก้ปัญหาหนี้สิน ให้ประชาชน กลับมามีรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงขึ้น ขณะเดียวกัน เราต้องสนับสนุน การทำ Crowdfunding หรือการระดมทุน จากผู้ที่สนใจในไอเดีย หรือธุรกิจ ของชุมชน ให้มาร่วมทุนกันสร้างผลงาน พัฒนาต่อยอดในทางเศราฐกิจ เราจะสร้างสตาร์ทอัพใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เราจะสร้างโอกาสให้คนในชุมชนได้อย่างมหาศาล เป็นแหล่งทุน ที่ไม่ต้องรอรัฐสนับสนุน

ข้อ 2  เมื่อในพื้นที่ เกษตรยังเป็นอาชีพหลัก แต่เมื่อเราอยู่ในยุคที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย การทำเกษตรต้องต้องมีการปรับปรุงพัฒนาให้ทันสมัย ใช้ Data หรือข้อมูล และเทคโนโลยีในการบริหารงานเกษตร เพื่อให้สามารถวางแผนวิธีการทำงานให้เหมาะสมในการสร้างผลผลิต ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ลดความเสี่ยงต่อการสูญเสีย และเพิ่มกำไรให้มากยิ่งขึ้นได้ ข้อ 3 การสนับสนุน เรื่องการท่องเที่ยว และการส่งออกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power อีสานมีจุดขายที่โดดเด่นมาก ไม่ว่าจะเป็นในเชิงสถานที่ วัฒนธรรม หรือเอกลักษณ์ของผู้คน เราต้องเพิ่มเส้นทางการท่องเที่ยว และต้องรู้ความต้องการของนักท่องเที่ยว ที่มีการเปลี่ยนพฤติกรรมพอสมควร จากที่มาเยือนแล้วถ่ายรูป นักท่องเที่ยวต้องการเข้ามาสัมผัสกับวิถีวัฒนธรรม ซึ่งตรงนั้น เราต้องปรับตัวให้ทัน

ต่อมา ข้อ 4 เราต้อง ยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ผังเมือง สมควรตอบโจทย์ทั้งคุณภาพชีวิตของคน และสิ่งแวดล้อม โครงข่ายการคมนาคมต่างๆจะต้องช่วยให้คนประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สนองตอบคนทุกกลุ่ม มีทางเลือกที่หลากหลาย กับประชาชน กระทรวงมหาดไทย เราคำนึงถึงในเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิต อาทิ นโยบายน้ำประปาสะอาดดื่มได้ เป็นต้น

จากนั้น ข้อที่ 5 เราต้องพัฒนาคน และสนับสนุนบทบาทของสถาบันการศึกษา หากเราต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เราก็ต้องมีนักเรียนนักศึกษาในสาย STEM ให้มากขึ้น ซึ่งก็คือ Science, Technology, Engineering และ Mathematics ซึ่งในส่วนนี้เราก็มีมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยีอยู่ในพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตาม คนในพื้นที่ ต้องไม่ลืมรากทางวัฒนธรรมทั้งความเป็นคนไทย และความเป็นคนอีสาน เพียงแต่ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา

และสุดท้ายข้อ 5 การกระจายความเจริญด้วยกลไกภาครัฐ เราต้องไม่ทำให้เกิดสังคมแบบรวยกระจุก จนกระจาย โดยในส่วนของกระทรวงมหาดไทยนั้น กรมพัฒนาชุมชนจะต้องเป็นหน่วยงานหลัก ในการบูรณาการงานพัฒนาด้านต่างๆให้ก้าวไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม กองทุนหมู่บ้าน กองทุนออมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการ สหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ต่างต้องร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก หรือเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตต่อไป  

“ที่สุดแล้ว เราจะต้องให้ความสำคัญทั้งกับการรักษาสิ่งเดิม เพิ่มเติมสิ่งใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก เปิดรับโอกาสทางการค้าการลงทุนที่มากับเส้นทางสายไหมและระเบียงเศรษฐกิจใหม่ ปรับตัวสู่การเกษตรวิถีใหม่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและผลักดัน Soft Power ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่หลากหลาย ปรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคน และกระจายความเจริญ เพื่อให้ประชาชนในทุกภาคส่วนได้รับโอกาสอย่างทั่วถึงกัน”





คุณอาจสนใจ

Related News