สังคม

เปิดโมเดล 'สระบุรีแซนด์บ็อกซ์' เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย

โดย panwilai_c

14 ก.พ. 2567

156 views

การประชุม COP 28 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ใช้โอกาสนี้เปิดตัวโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ สู่เวทีโลกเป็นครั้งแรก โครงการนี้เป็นการรวมกลุ่มระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อดำเนินเป้าหมายแก้ปัญหาโลกเดือดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ที่มีส่วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต ซึ่งตอนนี้ทางกลุ่มผู่ประกอบการจังหวัดสระบุรีได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันบรรลุ Net Zero ให้ได้ภายในปี 2050



หญ้าเนเปียร์ แปลงนี้มีอายุประมาณ 3 เดือน ซึ่งตามปกติแล้วหญ้าอายุเท่านี้เหมาะอย่างยิ่งต่อการนำไปทำอาหารสัตว์ แต่สำหรับการปลูกในครั้งนี้ต่างออกไป เพราะหญ้าเนเปียร์ ชุดนี้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในอุตสาหกรรมซีเมนต์



ตอนนี้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ได้ส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียให้กับเกษตรกรในพื้นที่ สระบุรีแซนด์บฺ็อกซ์ และจังหวัดข้างเคียงในรัศมี 50 กิโลเมตร โดยเริ่มโครงการระยะแรกได้ 1,120 ไร่ จากเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ว่าต้องมี 30,000 ไร่ จึงจะเพียงพอต่อรอบการเกี่ยวการใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งหญ้า 1 กอจะได้ผลผลิตประมาณ 80 กิโลกรัม เฉลี่ยไร่หนึ่งก็ 40-60 ตัน ปลูกครั้งนึงสามารถใช้ประโยชน์ได้นาน 7-10 ปี



ขณะที่การใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงก็สามารถให้ความร้อนได้ครึ่งหนึ่งของพลังงานถ่านหิน แต่หากนำไปแปรรูปเป็น black bio fuel ก็จะได้พลังงานความร้อนเทียบเท่าถ่านหินที่ 6,000 องศาเซลเซียส ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา



อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดสระบุรี และมากที่สุดในประเทศคิดเป็นสัดส่วนการผลิตถึง 80% โดยโรงงานปูนขนาดใหญ่ 6 โรง ในสระบุรี มีกำลังผลิตสูงสุดได้ กว่า 60 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันคงกำลังการผลิตไว้ที่ประมาณ 30 ล้านตันต่อปี ซึ่งจำนวนเท่านี้ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มากถึง 14 ล้านตันต่อปีแล้ว โดยในการผลิตปูนซีเมนต์ต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินมากถึงกว่า 40% ของกระบวนการทั้งหมด



สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย TCMA และ สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย TCA จึงได้ร่วมกันวางแนวทาง สร้างสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ



กำหนดเป้าหมาย การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ให้ได้ภายในปี 2050 ผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 2014 ในรูปแบบของการพัฒนาวัสดุทดแทนปูนเม็ด และนาโนเทคโนโลยีเพื่อให้ปูนซีเมนต์มีคุณสมบัติดีขึ้น ลดการปล่อยและกักเก็บคาร์บอนตั้งแต่กระบวนการผลิต รวมทั้งเปลี่ยนผ่านพลังงานหลักจากถ่านหินเป็นพลังงานเชื้อเพลิงจากชีวมวลและขยะ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 9 – 12 ล้านตัน ต่อปี



สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สอวช. ได้วางแนวทางข้อริเริ่มในโมเดลของสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ จากงานนวัตกรรม เชื่อมโยงกลไกระดับนานาชาติ ผ่านความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมในจังหวัดสระบุรี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เพื่อพัฒนาจังหวัดสระบุรีให้เป็นจังหวัดนำร่องบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์



ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ คาร์บอนนูทราลิตี้ ภายในปี 2050 และ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเป็นศูนย์ หรือ Net zero ภายในปี 2065 ซึ่งสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ คือ หมุดหมายพื้นที่นำร่องแห่งแรก ที่กำหนดเป้าหมาย Netzero ก่อนทุกพื้นที่ในประเทศภายในปี 2050 และ สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทดลองแห่งนี้จะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศไทยปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ภายในประเทศ เพื่อการบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ