เลือกตั้งและการเมือง

“วิโรจน์” อภิปรายมาตรการอารักขาขบวนเสด็จ บอกใช้น้ำมันดับไฟไม่ได้ แนะหาทางออกด้วยการพูดคุย

โดย paranee_s

14 ก.พ. 2567

139 views

วันนี้ (14 ก.พ. 2567) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม วาระการอภิปรายญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ


นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกอภิปรายว่า ในการอารักขาการเสด็จพระราชดำเนินของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในครั้งนี้ ก็เป็นกระบวนการตามปกติ ดังนั้น การรบกวนมาตรการการอารักขาที่เป็นมาตรฐานและเป็นปกติตนจึงต้องยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักอยู่ในใจตนเองเสมอก็คือการพยายามทำให้กระบวนการในการอารักขามีประสิทธิภาพสูงที่สุด ส่งผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด เพราะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าคนที่จะต้องไปทำงาน คนที่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือคนที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนต่างๆ เขาก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์โดยที่ไม่อาจจะรู้ด้วยซ้ำไปว่าขบวนเสด็จอยู่ข้างหน้า


“คุณปิดปากประชาชนให้พูดไม่ได้ คุณบังคับให้ประชาชนไม่รู้สึกอะไรเลยไม่ได้ ดังนั้น การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนที่ดีที่สุด คนที่ต้องทำหน้าที่นั้นก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอารักขา ทางออกที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือการทบทวนพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัยพ.ศ. 2560 โดยเฉพาะในมาตราที่ 5 โดยสภาแห่งนี้ควรจะเพิ่มเติมให้การปฏิบัติงานในการถวายความปลอดภัยให้คำนึงถึงประชาชนไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเกินควร” นายวิโรจน์ กล่าว


นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า เมื่อตนเห็นว่าการรบกวนมาตรการการอารักขาบุคคลสำคัญที่เป็นกระบวนการมาตรฐานเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตนก็จำเป็นต้องสะท้อนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ไม่มีความเกลียดชังใดๆ และตนยังเคารพวิจารณญาณและดุลยพินิจของผู้กระทำ ตนเคารพเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับมาเช่นกัน


ตนคิดว่าคนที่ปรารถนาดีต่อกันต้องกล้าที่จะพูดในสิทธิมีเหตุมีผล แม้จะรู้ว่าสิ่งที่พูดเป็นสิ่งที่บางคนอาจจะไม่อยากฟังก็ตาม คนที่ปรารถนาดีไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันในทุกเรื่อง การกล้าที่จะแสดงความเห็นคือความปรารถนาดี


นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องหนึ่งที่จะพูดไม่ได้ ก็คือการใช้ความรุนแรงในการทำร้ายผู้อื่นโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำร้ายผู้อื่นเพราะจงรักภักดีนั้นเป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สุด หากรับปล่อยให้บุคคลที่นิยมความรุนแรงมีอำนาจบาตรใหญ่อ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ทำร้ายคนที่คิดต่างอย่างใดก็ได้ โดยที่กฎหมายไม่เคยเอาผิดได้ ในระยะยาวมีแต่จะทำให้สถาบันเสื่อมเสียพระเกียรติยศ


ตนจึงมีความเห็นว่ารัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ให้มีพฤติกรรมกล้านำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้คนตามใจชอบอีกต่อไป


“ลองจินตนาการดูครับ ถ้าเราเชื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เป็นคนดี ลองจินตนาการดูว่าหากมีคนคิดแบบนี้เพิ่มเป็น 1 ล้านคนจะเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์” นายวิโรจน์ กล่าว


“จากที่เป็นศูนย์รวมจิตใจทั้งชาติต้องมาอยู่ใจกลางความขัดแย้งของประชาชนที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และสถาบันพระมหากษัตริย์จะยั่งยืนสถาพรได้อย่างไร การบังคับใช้กฎหมาย ขอฝากรัฐบาลไว้ตรงนี้ว่าต้องมีความเสมอภาค ไม่ใช่เอากฎหมายไปเล่นงานอีกฝ่ายหนึ่ง” นายวิโรจน์ ระบุ


นายวิโรจน์ ย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้นคือพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยในเรื่องสถาบัน ไม่ใช่สภา


เมื่อนายวิโรจน์กล่าวถึงช่วงนี้ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นประท้วงว่าญัตติที่พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอไป เป็นเพียงมาตรการรักษาความปลอดภัย ตั้งนายวิโรจน์อภิปรายนอกเหนือจากญัตติ


ทำให้นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ยังอยู่ในญัตติ เพราะเป็นการอภิปรายเรื่องความปลอดภัยและผลลัพธ์หลังจากนั้น


นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ประท้วงด้วยว่าสิ่งที่นายเกชาประท้วงเป็นคนละญัตติ แต่นายปดิพัทธ์ กล่าวตัดบทว่า เป็นประเด็นประท้วงเดียวกัน ตนขออนุญาตวินิจฉัยไม่ให้ประท้วง


ทำให้นายอัครเดชประท้วงประธานอีกรอบ ว่า ต้องวางตัวเป็นกลาง เพราะยังไม่ได้ฟังว่าไปประท้วงเรื่องอะไร


“แล้วปิดไมค์ผม ต้องฟังผมก่อน ผมประท้วงท่านประธาน ว่าท่านใช้ดุลยพินิจไม่เป็นกลาง ต้องฟังผมก่อนว่าเพราะอะไร แต่ท่านก็ตัดบทผม ว่าผมมีประเด็นเดียว ผมยังไม่ได้พูดเลย ขอให้ผมได้พูดก่อนได้หรือไม่ว่าท่านไม่เป็นกลางเพราะอะไร” นายอัครเดช กล่าว


จากนั้น นายปดิพัทธ์ ตอบโต้ว่า ไม่เป็นความจริง ก่อนที่นายอัครเดช กล่าวว่า ทางผู้เสนอญัตติเสนอเรื่องทบทวนมาตรการในการถวายความปลอดภัย แต่สิ่งที่ทางนายวิโรจน์พูดอยู่เป็นเรื่องกลุ่มบุคคลที่เห็นต่างที่มีปัญหา กระทำการไม่บังควร ซึ่งเป็นปัญหานอกเหนือจากญัตติที่เสนอ ส่วนเรื่องอื่นขอให้ไปยื่นญัตติใหม่ แล้วค่อยอภิปรายในประเด็นนี้


นายปดิพัทธ์ จึงอ่านญัตติที่เสนอ ว่า เรื่องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายทบทวนแผนและมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัย มีการฝึกซ้อมและประชาสัมพันธ์ สื่อสารกับประชาชนเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันของชาติ เนื้อหาของนายวิโรจน์เป็นส่วนสุดท้ายคือเรื่องการสื่อสารกับประชาชน ตนถือว่ายังอยู่ในประเด็น


นายวิโรจน์ จึงอภิปรายต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำให้เป็นรูปธรรมคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ม่ใช่แค่ในสภา แต่หมายถึงเวทีสาธารณะทั่วไปด้วยเพื่อให้การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเจตนาสุจริตอย่างไร วุฒิภาวะเป็นเรื่องปกติไม่มีการมาจับผิด ซึ่งรัฐบาลจะปล่อยให้สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้


“เราใช้น้ำมันดับไฟไม่ได้ ความรุนแรงไม่เคยแก้ไขความรุนแรงได้ มีแต่จะยิ่งทำให้บานปลาย ทุกความขัดแย้งในโลกใบนี้ล้วนแก้ไขได้ด้วยการพูดคุย ในที่สุดก็จะเกิดทางออกที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันอย่างสันติ เพื่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในหลายวงศ์สนทนา เวลาที่มีการเอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะเอ่ยด้วยความสุจริตก็ตามก็ต้องมีบางคนในวงสนทนามีอากัปกิริยาแบบนี้”


โดยนายวิโรจน์ ได้ทำท่าจุ๊ปาก ห้ามพูด ของเก่าต่อว่ามาสะท้อนเพราะปัจจุบันสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังกลายเป็นเรื่องต้องห้ามไปแล้ว ซึ่งหากเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งห่างเหินจากประชาชน บั่นทอนการยึดเหนี่ยวจิตใจที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีต่อประชาชน คำกล่าวหาในลักษณะนี้เป็นการดูถูกประชาชนอย่างสิ้นเชิง


นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเชื่อว่าประชาชนหลายคนที่ฟังบางคนอาจไม่สบายใจและอาจจะนึกด่าทอต่อว่าตนอยู่ในใจตัวน้อมรับ แต่ถ้าฟังด้วยใจที่เป็นกลางและฟังแล้วคิดตามในสิ่งที่ตนพยายามจะสื่อสารก็จะทราบดีว่า ตนมีความปรารถนาดีต่อระบอบประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์และประสงค์ที่จะให้สถาบันกษัตริย์ทรงสถิตสถาพรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตราบนิรันดร์

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ