สังคม

ประธาน ป.ป.ช.ลงนามรับรองข้อเสนอแนะ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' แล้ว เตรียมประชุม คกก.ชุดใหญ่สัปดาห์หน้า

โดย panisa_p

6 ก.พ. 2567

52 views

เลขาธิการคณะกรรมการ ปปช. เปิดเผยว่า ประธาน ป.ป.ช. ลงนามรับรองข้อเสนอแนะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว เตรียมแถลงรายละเอียดพรุ่งนี้ โดยยืนยันความเห็นเพื่อป้องการการทุจริต ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ขณะที่รัฐบาลยืนยันเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตคู่ขนาน ระหว่างรอความเห็นจาก ป.ป.ช. ส่งมา โดยเตรียมประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในช่วงสัปดาห์หน้า



นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่าที่ประชุม ป.ป.ช.วันนี้ ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต ชุดที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน โดยที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติเห็นชอบ ซึ่งพลตำรวจเอกวัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน กรรมการ ป.ป.ช. ลงนามรับรอง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะส่งความเห็นไปยังรัฐบาลต่อไป และจะเปิดเผยรายละเอียด อย่างเป็นทางการอีกครั้งที่ สำนักงาน ป.ป.ช.ในวันพรุ่งนี้ เบื้องต้นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการศึกษาดิจิทัลวอลเล็ต ได้ปรับแก้ไขเพื่อให้คำสั่งเข้มงวดน้อยลง ไม่ได้เป็นสภาพบังคับ



โดยประเด็นที่มีการปรับปรุงคือ ยืนยันว่า ป.ป.ช.มีอำนาจจัดทำข้อเสนอแนะตามมาตรา 32 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ว่ามีการปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ โดยไม่ได้ฟันธงว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต รวมถึงตัดถ้อยคำที่ว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการหาเสียงที่อาจเข้าลักษณะสัญญาว่าจะให้ แต่จะเป็นข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริตในนโยบายดังกล่าว เนื่องจากตรวจสอบพบว่าอาจเปิดช่องให้มีการทุจริตเชิงนโยบาย และสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายหลายฉบับโดยเฉพาะที่มาของแหล่งเงิน ซึ่งไม่ตรงกับที่แจ้งไว้ต่อ กกต. อีกทั้งยังพบความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และความเสี่ยงด้านกฎหมายวินัยการเงินการคลัง จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย



ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ภายหลังจากที่ ได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจในการใช้จ่าย



ส่วนอัตราดอกเบี้ย นโยบายที่คงที่ที่ร้อยละ 2.5 ก็ดูดซับสภาพคล่องจากระบบพอสมควร สถานการณ์เศรษฐกิจไทยตอนนี้จึงเหมือนบ่อปลา ที่มีน้ำไม่เพียงพอ ประชาชนที่เปรียบเหมือนปลาจึงไม่สามารถอยู่ได้ จึงจำเป็นต้องมีเม็ดเงินใหม่มาลงทุน ซึ่งก็มองว่าเงินดิจิทัลจะตอบโจทย์นั้น ที่ผ่านมา มีการหารือกันว่าจะต้องรอ ความเห็นของ ปปช. แต่ก็ย้ำว่า "ความเห็นที่จะถูกส่งมา คือข้อเสนอแนะและความห่วงใย ไม่สามารถจะมากำหนดทิศทางนโยบายของเราได้ หากรัฐบาลจะทำก็จะดำเนินคู่ขนานไปเลย"



โดยในช่วงสัปดาห์หน้านี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยยายดิจิทัลวอลเล็ต ในการพิจารณาข้อห่วงใยกรณีเกิดการทุจริตคอรัปชัน และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามล่วงหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการทุจริตในโครงการดิจิทัลวลอลเล็ต หรือใช้เงินผิดประเภท พร้อมหารือสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ เพื่อหาแนวทางกระตุ้น และ ผลลัพธ์ที่อาจไม่มีความชัดเจน แต่ก็เป็นไปตามความต้องการของประชาชน นอกจากนี้นายจุลพันธ์ยังยอมรับว่า ไทม์ไลน์การแจกดิจิทัลวอลเล็ต ได้ขยับออกไปแล้วจากเดือนพฤษภาคม โดยยังไม่มีการกำหนดเวลาที่แน่ชัด แต่ยืนยันว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด



ล่าสุดมีการยกร่างพ.ร.บ.กู้เงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งข้อเสนอขณะนี้ ยังเป็นการใช้แอปพลิเคชั่นเป๋าตังค์อยู่ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่สิ่งที่จะต้องหารือต่อจากนี้ คือกลไกการเชื่อมต่อระหว่างธนาคาร ส่วนการจะต้องออกเป็นพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก. กู้เงิน หรือไม่ นายจุลพันธ์ ยอมรับว่า พ.ร.ก.เป็นหนึ่งในกฎหมายที่รัฐบาลสามารถประกาศใช้ได้ และอยู่ตัวเลือกของรัฐบาล จากกลไลเดินหน้าที่วางแผนไว้มากกว่า 1 วิธี ซึ่งอาจถูกนำมาพิจารณาหากสถานการณ์เศรษฐกิจไปถึงจุดที่จำเป็น แต่สำหรับตอนนี้ยังไม่ถึงจุดที่ต้องเลือกใช้

คุณอาจสนใจ

Related News