สังคม

วินิจฉัยโรคผิดชีวิตเปลี่ยน! อดีต ผอ.รร. ถูกผ่าตัดฟรี ทำต้องเปลี่ยนวิธีรักษาโรคไต-ติดเชื้อรุนแรง วอนรพ.รับผิดชอบ

โดย paranee_s

2 ก.พ. 2567

1.1K views

อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดยะลา ได้เปิดเผยเรื่องราวความพลิกผันของชีวิตในเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความอัดอั้นในใจ จากเหตุแพทย์ผู้รักษาวินิจฉัยโรคผิด ทำให้ชีวิตเปลี่ยน โดยเหตุเกิด ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา


นายอารีดิง อายุ 41 ปี ผู้ป่วยซึ่งมีโรคประจำตัว คือ โรคไต โดยที่ผ่านมา สามารถทำการรักษาโดย การล้างไต ทางหน้าท้องแบบทำเองที่บ้าน ซึ่งเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 21.45 น. ผมได้เข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ยะลา ซึ่งขณะนั้นตนมีอาการปวดท้อง


เมื่อไปถึงโรงพยาบาล ได้เข้าห้องฉุกเฉิน หมอประจำห้องได้ทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย หมอสงสัยเลยส่งไปเอกเรย์ช่องท้อง ต่อมาก็ได้มาบอกว่า คนไข้ลำไส้ทะลุนะ ต้องผ่าตัดด่วน ผมและภรรยายังไม่แน่ใจเลยถามไปอีกครั้ง ว่าทะลุเลยหรอครับ หมอบอกว่า ใช่ค่ะ ต้องผ่าตัดด่วนนะ แต่ต้องรอให้หมอศัลยกรรมมาดูให้อีกครั้ง


เมื่อหมอศัลยกรรมมาก็บอกว่า ลำไส้ทะลุ ต้องเข้ารับการผ่าตัดด่วน ตอนนี้รอให้ห้องผ่าตัดว่าง ก็เข้าได้เลย หลังจากนั้นเวลาประมาณตี 1 กว่าๆ ผมก็โดนเข็นเข้าไปในห้องผ่าตัดใหญ่ จากนั้นหมอก็ได้ทำการผ่าตัด ผ่านไปสักพักใหญ่ๆ หลายชั่วโมง หมอก็ออกมาเรียกญาติ ภรรยาผมก็เดินเข้าไปหาหมอ และหมอแจ้งมาว่า หมอได้ทำการผ่าตัดแล้วนะ แต่หมอไม่เห็นรอยทะลุของลำไส้เลย


“หมอพยายามหารอยที่ทะลุแล้วนะ แต่หาไม่เจอ หมอหาอยู่ตั้งนานก็ไม่เห็น งั้นหมอเย็บปิดแผลก่อนนะ” 


ในวันรุ่งขึ้น หมอมาตรวจและแจ้งผลการผ่าตัดให้ทราบ หมอบอกว่า ไม่เจอรอยลำไส้ทะลุ ทุกอย่างปกติหมด และหมอยังบอกต่ออีกว่า ตอนนี้การรักษาล้างไต ทางหน้าท้องคงต้องยุติลงไปก่อน เนื่องจากแผลผ่าตัดที่หน้าท้องมีขนาดใหญ่ คงต้องงดการล้างไต ทางหน้าท้องและต้องเปลี่ยนมาเป็นฟอกเลือดแทน


ซึ่งเบื้องต้นต้องทำการผ่าตัดทำเส้นฉุกเฉินที่คอไปก่อน (ผ่าตัดรอบ2) เพื่อให้ได้ฟอกเลือด ผ่านไปประมาณ 3 - 4 วัน สายที่หน้าท้องมีความผิดปกติ หมอเลยนำไปตรวจ ปรากฏว่า มีการติดเชื้อ หมอเลยให้ยาฆ่าเชื้อและครั้งนี้ผมนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทั้งหมด 9 วัน หลังจากหมอให้ผมกลับบ้าน ผมก็ยังมีอาการปวดท้องอีก หลังจากนั้น 2 วัน ถึงวันนัดตัดไหม ผมแจ้งให้หมอทราบว่า ผมยังคงมีอาการปวดท้อง หมอเลยส่งไป CT สแกน


และหมอแจ้งว่า น่าจะมีการติดเชื้อเพิ่มในช่องท้องบริเวณสายหน้าท้องเดิม ต้องทำการผ่าตัดอีกครั้งเพื่อเอาสายออก (ผ่าตัดครั้งที่ 3) ผ่ารอบนี้ก็มีลุ้นอีกเช่นเดิม พยาบาลเรียก ญาติ ภรรยาผมก็เข้าไป หมอจึงแจ้งว่า หมอยังไม่เย็บปิดแผลนะ เพราะในช่องท้องมีการติดเชื้อ และมีหนอง ต้องล้างแผลทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ซึ่งเวลาล้างแผลทรมานสุดๆ แผลสดๆ แดงๆ ที่โดนผ่าช่องท้องแล้วไม่ได้เย็บปิดแผล


ผ่านไป 6 วัน ก็ได้เย็บแผล รอบนี้ผมนอนพักที่โรงพยาบาลอีก 9 วัน การรักษาไต แบบเดิมของผมต้องยุติลง จากที่ล้างไตทางหน้าท้อง แบบทำเองที่บ้าน แล้วมาพบหมอ 3 เดือน/ครั้ง แต่คราวนี้ต้องเปลี่ยนไปเป็นฟอกเลือด สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ,เดือนละ 8-10 ครั้ง และ 24-30 ครั้ง/3 เดือน และผมต้องหาที่ฟอกไตเอง ซึ่งได้คิวที่ต่างจังหวัด คือ โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพราะที่ยะลาเต็ม ไม่มีคิวให้ผมเลย ผมต้องเดินทางไปๆ มาๆ ซึ่งร่างกายก็ไม่แข็งแรงเหนื่อยมากๆ


ทั้งนี้ จากการตรวจวินิจฉัยโรคที่ผิดพลาดของหมอในครั้งนี้ ทำให้ผมและครอบครัวได้รับผลกระทบกับร่างกายและจิตใจ รวมถึงการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก หลังผ่าตัดในครั้งนี้ อีกไม่กี่วันจะครบเดือน ร่างกายของผมก็ยังไม่เหมือนเดิม จากที่ช่วยเหลือตัวเองได้ ไปไหนมาไหนได้ ทุกวันนี้กลับไม่มีแรง เหนื่อยง่าย ทำอะไรไม่ได้เลย ยังคงต้องให้ภรรยาและลูกประคองเวลาเข้าห้องน้ำ คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนที่จะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม


ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ผมได้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทั้งหมดประมาณ 18 วัน ทางโรงพยาบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่มาเยี่ยม 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 หลังผ่าตัดครั้งแรกไป 7 วัน เพิ่งจะมาเยี่ยม ครั้งที่ 2 ก่อนกลับบ้าน (รอบ 2 มามอบกระเช้า ซึ่งก่อนหน้านี้เราขอไปพบผู้บริหารเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ให้กับผมและครอบครัว แต่เราก็โดนกีดกั้นไม่ให้พบผู้บริหาร อ้างว่าไม่อยู่บ้าง ติดประชุมบ้าง และบางครั้งมีการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมในการสื่อสาร ซึ่งตอนนี้ทางเราก็ยังไม่ได้คำตอบ จากทางโรงพยาบาล ว่าจะช่วยเหลือหรือเยียวยาให้กับผมและครอบครัวจากกรณีที่เกิดจากความผิดพลาดของการให้บริการในครั้งนี้หรือไม่


ทั้งหมดที่ผมเล่ามา ผมอยากให้เป็นอุทาหรณ์ให้กับทุกคน และผมขอเป็นกระบอกเสียง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่อยากให้มีผู้เสียหายเกิดขึ้นบ่อยๆ ผมวอนขอให้ทางโรงพยาบาล มีการทบทวนกระบวนการทำงาน ปรับปรุงการให้บริการ ให้มีความละเอียดรอบคอบ ให้มากกว่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสื่อสารในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนที่เข้าไปใช้บริการ ด้วยความเคารพ นายอารีดิง 


ล่าสุด วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2567) ผู้สื่อข่าว ได้เดินทางไปที่บ้านในหมู่ที่ 9 บ้านลุเป ต.กรงปินัง อ.กรงปืนัง จ.ยะลา ซึ่งเป็นบ้านของ นายอารีดิง อายุ 41 ปี อดีต ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา มีโรคประจำตัวเป็นโรคไต (รักษาโดย ล้างไตทางหน้าท้องแบบทำเองที่บ้าน) ที่ได้รับความเดือดร้อน หลังจากเข้าไปทำการผ่าตัด โดยแพทย์-พยาบาล ที่มีการวินิจฉัยว่าคนไข้ลำไส้รั้ว (ลำไส้ทะลุ) ต้องเข้าผ่าตัดเป็นการด่วน


แต่เมื่อทำการผ่าตัดเสร็จสิ้น แพทย์ออกมาแจ้งว่า ไม่เจอรอยลำไส้ทะลุ ทุกอย่างปกติหมด จนต้องเปลี่ยนการดูแลรักษาโรคไตเป็นฟอกเลือด และมีอาการติดเชื้อรุนแรง ร่างกายทรุดลงหนักกว่าเดิม ร่างกายไม่มีแรง เหนื่อยง่าย ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องมีภรรยาคอยดูแล


นายอารีดิง กล่าวว่า หลังเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ตนเองอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ลงมาดู มาดูแลและมารับผิดชอบในสิ่งที่เกิด สำหรับคุณหมอ ผมไม่ได้ว่าอะไร หมอเขาก็ขอโทษในสิ่งที่ผิดพลาด แต่เมื่อผมขอเจอผู้บริหารที่โรงพยาบาลยะลา ก็โดนเจ้าหน้าที่ กีดกั้นไม่ให้ไปเจอ และก็เขาบอกว่าโรงพยาบาลไม่มีเงินที่จะเยียวยา ไม่มีเงินที่จะดูแลถ้าคุณจะฟ้องก็ฟ้อง และไปฟ้องหมอด้วย และจะไปศูนย์ดำรงธรรมก็ไม่เป็นไร ไป ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้) ก็ไม่เป็นไรจะไป สสจ. (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ก็ไม่เป็นไร


แต่โรงพยาบาลไม่มีเงินที่จะเยียวยา หลังจากกลับบ้านก็ไม่มีการดูแล ปัญหาหลักตอนนี้หาที่ฟอกไตก็ยังไม่มีเลย และฟอกไตต้องผ่านทางคอ ปกติการฟอกทางข้อมือยังหาที่ไม่มี หาคิวยังไม่ได้เลย นี้คือความลำบากของผมและครอบครัวผม


4 ปี ผมลาออกจากการทำงานต้องดูแลตัวเอง ซึ่งหลังจากนี้ต้องเป็นภาระของภรรยาผม เพราะว่าต้องมาดูแลผม เพราะไปทำงาน 3 วันดี 4 วันไข้ ไปบ้างไม่ไปบ้าง เพราะต้องดูแลผม ยังไงผมขอวอนให้ผู้หลักผู้ใหญ่ทางโรงพยาบาลและกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลช่วยดูแลคนไข้และก็ต่อไปนี้ ผมขอเป็นอุทาหรณ์และนี้เล่าสู่กันฟังเป็นบทเรียนมันคือประสบการณ์ให้กับผู้บริหารโรงพยาบาลและก็เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ใช้บริการทุกคนวันนี้หวังว่าจะเป็นเคสสุดท้ายสำหรับผมและครอบครัว

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ