สังคม

เลขาฯ กพฐ. แจง ยกเลิกให้ครูเวรต้องใช้เวลา ด้าน กทม.เดินหน้าคืนครูให้นักเรียน ออกระเบียบยกเลิกครูเข้าเวร

โดย paranee_s

22 ม.ค. 2567

322 views

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่ากทม. กล่าวถึงนโยบายคืนครูให้นักเรียน ของโรงเรียนในสังกัดกทม.ว่า กทม.ดำเนินนโยบายนี้มาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการลดภาระด้านงานเอกสารของครู โดยมีการจ้างพนักงานธุรการมาช่วยใน 2 ส่วนคือ ธุรการกับการเงิน


ซึ่งธุรการจะช่วยในเรื่องจัดเตรียมเอกสาร แต่สุดท้ายคนที่เซ็นต้องเป็นข้าราชการที่เซ็น ถ้ามีธุรการ ไม่มีการเงินก็ไม่ครบวงจร เพราะภาระของครูก็ยังไม่หมดไป ดังนั้นจึงต้องจ้างใน 2 ส่วนคือจ้างธุรการและจ้างการเงิน ตอนนี้เร่งทางสำนักงาน ก.ก. จ้างเรื่องการเงินให้ครบด้วย อันนี้ในปีงบประมาณที่ผ่านมาได้มีการจ้างแล้ว 371 อัตรา


ส่วนเรื่องการลดภาระด้านเอกสาร ในการเรียนการสอนตอนนี้ ได้เริ่มทำในโรงเรียนนำร่อง 10 แห่ง พบว่าสามารถลดภาระครูได้ประมาณ 70% ก็ทำต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดำเนินการในทุกโรงเรียน ทั้งนี้ให้แต่ละสำนักงานเขตเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการให้เท่ากัน


ส่วนเรื่องครูเวรที่เพิ่งประกาศแนวทางไป โดยให้โรงเรียนปฏิบัติตามระเบียบที่ประกาศออกไป โดยสาระสำคัญคือ ไม่จำเป็นต้องเข้าเวร ถ้าได้จ้างเอกชน เช่น รปภ.มาอยู่แล้ว ครูจึงไม่จำเป็นต้องเข้าเวร ดังนั้นแนวทางที่ประกาศไปให้ปฏิบัติตามที่ประกาศ เพราะตอนนี้ซ้ำซ้อนกันอยู่ เพื่อให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้หากโรงเรียนใดยังไม่มีการดำเนินการจ้าง รปภ. ก็ให้ทางสำนักงานเขตดำเนินการจ้าง รปภ. มาเข้าเวรเพื่อให้ครูไม่ต้องมาเข้าเวรก็ถือว่าเป็นของขวัญให้ครูทุกคน คิดว่าหลังจากวันครูที่ผ่านมาอีกไม่กี่เดือนน่าจะเห็นผลตามโรงเรียน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับระเบียบดังกล่าวคือ ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ราชการของกรุงเทพมหานคร พ.ศ 2566 ลวนามโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. โดยหมวด 1 การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ราชการ ข้อ 10 วรรคท้าย ระบุว่าในกรณีที่หน่วยงานหรือส่วนราชการใดได้ทำสัญญาจ้างให้เอกชนหรือหน่วยงานที่รับจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยแล้วและขอบเขตของสัญญาจ้างดังกล่าวครอบคลุมหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่เวรรักษาความปลอดภัยประจำวันแล้วจะไม่จัดให้มีเจ้าหน้าที่เวรรักษาความปลอดภัยประจำวันก็ได้


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เนื่องจากที่ผ่านมาสำนักงานเขตได้มีการจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ในหลายโรงเรียนโรงเรียน ดังนั้นภายหลังจากมีระเบียบเรื่องนี้ออกมา การยกเลิกเวรของครูในโรงเรียนสังกัด กทม.จึงให้โรงเรียนและสำนักงานเขต เป็นผู้พิจารณาร่วมกันว่าจะยังคงมีหรือยกเลิกหรือไม่


ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวถึง เหตุการณ์คนร้ายบุกทำร้ายครูหญิงอยู่เวรรักษาการณ์โรงเรียนที่จังหวัดเชียงราย จนเกิดกระแสในโซเชียล จนติดแฮชแท็ก "ยกเลิกครูเวร" ว่า ต้องใช้เวลายกเลิกครูอยู่เวร เพราะเป็นระเบียบรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงมติครม.ให้ครอบคลุมทุกหน่วยราชการ ต้องจัดเวรยามรักษาความปลอดภัย สถานที่ราชการ เพื่อดูแลทรัพย์สินป้องกันภัยต่างๆ


เลขาธิการ กพฐ. อธิบายว่า มติครม.มาช่วยขยายความให้ กรณีที่ส่วนราชการใด มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้ว ไม่ต้องจัดคนอยู่เวรยาม ซึ่งโรงเรียนสพฐ.มีกว่า 3 หมื่นโรงเรียนที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ รปภ.จึงต้องเป็นไปตามระเบียบมีครูมาอยู่เวร หากทรัพย์สินหาย ครูก็จะถูกสอบสวนอีก


ส่วนกระแสเรียกร้องให้ใช้เทคโนโลยีกล้องวงจรปิดมาใช้แทนครูอยู่เวร เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถทำได้ เพราะกล้องวงจรผิดแค่จับภาพ แต่การอยู่เวรก็เพื่อเจตนา คือ ป้องกันไม่ให้เกิดภัยต่างๆ ในทรัพย์สินของราชการที่ต้องดูแล แต่ในอนาคตอาจจะปรับระเบียบรักษาความปลอดภัย ให้ใช้กล้องวงจรปิดได้ แต่เกิดเหตุครูก็ต้องมาไล่กล้องดู


ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการกำลังขออนุมัตินักการภารโรงต่อครม.อยู่ 14,000 กว่าโรงเรียน อยู่ระหว่างขออนุมัติงบประมาณ หัวละ 10,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเร่งรัดให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระครู


แต่วันนี้ได้ลงนาม ส่งหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ขอให้สนับสนุนหน่วยงานปกครองในพื้นที่ หรือผู้นำชุมชนช่วยจัดเวรยามดูแลความปลอดภัยในโรงเรียน และช่วยเฝ้าระวัง ผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงรุนแรงด้วย ซึ่งเป็นแนวทางระหว่างรอครม.และสำนักงานประมาณอนุมัติอัตรานักการภารโรงกลับคืนโรงเรียน

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ