เลือกตั้งและการเมือง

"อุ๊งอิ๊ง" ดันคณะซอฟต์พาวเวอร์ แก้ไขกฎกระทรวงจัดเรตติ้ง เคาะแก้ 3 เรื่องอุตสหกรรมภาพยนตร์

โดย paranee_s

4 ม.ค. 2567

63 views

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ครั้งที่ 1/2567 ว่า ที่ ประชุมได้ย้ำ 3 ประเด็นหลักคือ การแก้ไขกฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 , การตั้ง One Stop Service และความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.บ. THACCHA



โดยประเด็นแรก คือการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชนมานานหลายปี จากความไม่สมเหตุสมผลของเกณฑ์รวมถึงความไม่ชัดเจนของการพิจารณานั้น กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับคณะอนุกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์สาขาภาพยนตร์ ได้เสนอการทำงาน 3 เรื่อง



ส่วนที่ 1 การเปลี่ยนแปลง “คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และเกม” โดยเปลี่ยนแปลงทั้งสัดส่วนของคณะกรรมการให้เอกชนมีเสียงข้างมาก และ เป็นประธานคณะกรรมการทุกชุด โดยจะตั้งคณะกรรมการใหม่ 9 ชุด รวมชุดที่ 1 ที่ยังไม่หมดวาระ เป็น 10 ชุด แบ่งออกเป็น คณะพิจารณาภาพยนตร์ 8 ชุด และ คณะพิจารณาด้านเกมโดยเฉพาะ 2 ชุด เพราะเกมและภาพยนตร์มีวิธีคิดและมุมมองที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องพิจารณาแยกกัน



ซึ่งจุดสำคัญ คือการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของคณะกรรมการพิจารณา จะต้องมีสัดส่วนของเอกชนมากกว่าภาครัฐบาล โดยกำหนดให้ประธานคณะพิจารณาในแต่ละชุดเป็นเอกชน และมีคณะกรรมที่มาจากภาคเอกชน 3 คน และจากภาครัฐ 2 คน จากเดิมที่มีเอกชน 3 คน และภาครัฐ 4 คน



“การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการพิจารณาครั้งนี้จะทำให้ภาพยนตร์ไทยได้รับการพิจารณาเรตติ้งที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมมากขึ้น การจัดเรตคนดู จะเป็นเพียงตัวบอกว่าสิ่งใดเหมาะสม แต่จะไม่ใช่การควบคุมภาพยนตร์ไทยอีกต่อไปค่ะ” นางสาวแพทองธาร กล่าว



นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ส่วนที่ 2 คือ การแก้ไขกฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างรอการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน สำหรับการแก้ไขกฎกระทรวงที่มาของจัดประเภทเรตของภาพยนตร์ จะเป็นการแก้ไขในส่วนของภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทย โดยภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทยจะเหลือเพียงข้อกำหนดเดียว คือ เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์



ส่วนประเด็นอื่นๆ เรื่องศาสนา เรื่องความมั่นคง รวมถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ จะถูกจัดอยู่ในเรตผู้ชมที่เหมาะสมแทนการห้ามฉาย โดยกระบวนการแก้กฎกระทรวงนี้ ยังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และคาดว่าการแก้ไขจะเสร็จสิ้นในช่วงกลางปีนี้



ส่วนที่ 3 คือ การสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว นั่นคือการยกร่างกฎหมายพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิด “สภาภาพยนตร์ไทย” องค์กรใหม่ภายใต้ THACCA มาทำหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไปจนถึงการพิจารณาจัดเรตผู้ชมในอนาคต และให้เอกชนเป็นผู้จัดเรตผู้ชมด้วยตัวเอง



“การเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดเรตของผู้ชมทั้ง 3 ส่วน คือการเปลี่ยนวิธีคิด ที่ภาครัฐเคยเน้นควบคุมภาพยนตร์ เป็นการสนับสนุนเสรีภาพและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินทุกคน” นางสาวแพทองธาร กล่าว



นางสาวแพทองธาร ยังกล่าวว่า การตั้ง One Stop Service ที่รวมเอาการติดต่อหน่วยงานราชการหลายๆ หน่วยเข้าไว้ที่เดียว โดยสองอุตสาหกรรมแรกที่จะลงมือทำ One Stop Sevice คือ อุตสาหกรรมเพลง และ ภาพยนตร์ เพราะการจัดคอนเสิร์ตและการถ่ายทำภาพยนตร์มีปัญหามากที่ต้องติดต่อหลายหน่วยงานราชการ และประเด็นสุดท้าย คือ กระบวนการยกร่าง พ.ร.บ. THACCA ที่จะเป็นกฎหมายหลักสำหรับหน่วยงานที่จะมาขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศ ตอนนี้ตัวกฎหมายใกล้เสร็จเต็มที่แล้วค่ะ กำลังอยู่ในขั้นตอนของตรวจสอบความเรียบร้อย แล้วเปิดรับฟังความเห็น โดยเราตั้งใจจะผลักดันให้เข้าสภาภายในกลางปีนี้ให้ได้



จากนั้นสื่อมวลชนได้สอบถาม ถึงงบประมาณการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ยังอยู่ที่ 5,164 ล้านบาทหรือไม่ นพ. สุรพงษ์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาทั้ง 11 อุตสาหกรรมได้เสนองบประมาณที่ 5,164 ล้านบาท ซึ่งบางอุตสาหกรรมเสนอใช้งบในปี 2567 แต่บางอุตสาหกรรมเสนอใช้งบของปี 2561 และ 2568 รวมกัน เมื่อนำมากลั่นกรองแล้วพบว่า งบปี 2567 จะอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นงบของปี 2568 โดยวันนี้ (4ม.ค.) ที่ประชุมยังไม่ได้ลงรายละเอียด และให้ไปทำคำของบประมาณกับสำนักงานงบประมาณเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับงบของแต่ละกระทรวงอีกทั้งเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า



ส่วนการของบ 3,500 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 นั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นงบที่มาจากหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งมีข้อสังเกตจากสำนักงบประมาณว่า ตัวเลขงบประมาณ 3,500 ล้านบาท มีอยู่ในการพิจารณางบ ปี 67 กว่า 1,000 ล้านบาท ดังนั้น งบที่ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ได้เสนอมาจะอยู่นอกเหนือจากที่หน่วยงานราชการตั้งไว้ 2,500 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้จะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ชุดใหญ่ที่ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันอังคารที่ 9 มกราคมนี้



เมื่อถามว่ามองอย่างไร ในที่ประชุมสภาเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบปี67 ตั้งข้อสังเกตว่าในอนาคตงบประมาณของคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์อาจจะต้องใช้งบกลาง นั้น นพ. สุรพงษ์ กล่าวย้ำว่า ตัวเลขที่จะใช้ในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 3,500 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีงบของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้วเกือบ 1000 ล้านบาท ดังนั้นส่วนที่เหลือประมาณ 2500 ล้านบาทก็จะต้องดำเนินการของบกลางเพื่อมาดำเนินงาน โดยเฉพาะบางกิจกรรมที่เกิดขึ้นก่อนเดือนเมษายน อย่างการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ พี่จะต้องดำเนินการของบประมาณในที่ประชุมคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ชุดใหญ่วันที่ 9 มกราคมนี้



ส่วนเหตุผลที่ นนกุล-ชานน สันตินธรกุล ดารานักแสดงชื่อดัง เข้ามาเป็นอนุกรรมการด้านภาพยนตร์ นั้น นพ. สุรพงษ์ กล่าวว่า เนื่องจาก นนกุล เข้ามาช่วยงานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ต้น และครั้งแรกในการตั้งคณะอนุกรรมการ นนกุลก็ไม่ได้มีรายชื่อ แต่มาช่วยเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์มากและการประชุมบางครั้งใช้เวลา 4 ถึง 5 ชั่วโมง ซึ่งนนกุลก็อยู่ร่วมประชุมตลอด จึงคิดว่า นนกุลน่าจะเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้ได้รับความเห็นที่กว้างขวางมากขึ้น จากคนที่อยู่ในวงการบันเทิงอย่างแท้จริง

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ