เลือกตั้งและการเมือง

เปิดคำพิพากษา ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง-ถอนหมายจับ 'ยิ่งลักษณ์' คดีย้าย 'ถวิล'

โดย passamon_a

27 ธ.ค. 2566

28 views

เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.66 เวลา 13.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษา คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กรณีโอนย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)


โดยศาลพิเคราะห์แล้วให้ยกฟ้องและเพิกถอนหมายจับในข้อหาตามมาตรา 157 โดยศาลได้ไต่สวน และใช้ดุลยพินิจแล้วชี้ว่า ในคำร้องดังกล่าว เป็นคนละประเด็นกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พิพากษาของศาลปกครองและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงไม่มีผลผูกพันกัน


และตุลาการเสียงข้างมาก พิเคราะห์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล ไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้กับนายถวิล


ขณะเดียวกันการแต่งตั้งโยกย้าย เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว ตั้งแต่สมัย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา อีกทั้งการไต่สวนพบว่า ไม่มีเจตนาสมคบคิดกันในการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล แม้จะเป็นการดำเนินการในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 4 วัน การแต่งตั้งเพื่อให้ทันต่อการเสนอ ให้ ครม.ในขณะนั้นอนุมัติ ซึ่งเป็นไปตามปกติ ไม่พบพิรุธ ที่จะส่อให้เห็นถึงการทุจริตต่อหน้าที่ ที่จะเสนอให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น


ภายหลังการอ่านคำพิพากษา นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ผลของคำพิพากษา คือ ยกฟ้องอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์


สาระสำคัญคือ ความเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทั้งหมด การโยกย้ายก็เป็นไปตามกฎหมายข้าราชการพลเรือน มาตรา 57 สามารถกระทำได้ ประเด็นที่สองเรื่องการกระทำความผิดทางอาญา ต้องอาศัยเจตนาเป็นสำคัญ ตามมาตรา 59 ในทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปกลั่นแกล้งนายถวิล ประเด็นที่สามในเรื่องของคำพิพากษาศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนของศาลปกครอง เป็นการพิจารณาถึงการโอนย้ายชอบหรือไม่ชอบ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการพ้นการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ไม่มีเรื่องการกระทำผิดทางอาญา จึงไม่อาจนำคำพิพากษาทั้งสองศาลมาฟังว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดทางอาญา


ทั้งนี้หากจะมีการยื่นต่อสู้ ก็น่าจะเป็นฝ่ายอัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่น แต่ว่าขั้นตอนในการยื่น กว่าศาลจะรับก็จะมีขั้นตอนอยู่ ซึ่งหากมีการอุทธรณ์ ก็จะต่อสู้ให้ถึงที่สุด แต่การที่ศาลจะรับอุทธรณ์หรือไม่นั้น ก็จะเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ว่ามีสาระสำคัญหรือมีประเด็นอะไรที่จะอุทธรณ์ได้หรือไม่ หากศาลไม่รับอุทธรณ์ หรืออุทธรณ์ไม่ได้คำวินิจฉัยนี้ ก็ถือว่าสิ้นสุดแล้ว ถือว่านางสาวยิ่งลักษณ์ไม่มีความผิด


นายนรวิชญ์ เปิดเผยด้วยว่า ยังไม่ได้พูดคุยกับนางสาวยิ่งลักษณ์และยังไมได้รายงานผลคำพิพากษา แต่เชื่อว่านางสาวยิ่งลักษณ์คงทราบจากผู้สื่อข่าวแล้ว


ด้าน นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ระบุว่า เป็นประเด็นสำคัญในทางกฎหมาย ในการวินิจฉัยของศาลฎีการับฟังการไต่สวนหลักฐานที่ได้จากทาง ป.ป.ช. และพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนว่า กรณีทั้ง 2 ศาล ถือว่าเป็นคนละประเด็นในการที่จะนำมารับฟังให้เป็นที่ยุติว่าการกระทำของจำเลยในคดีนี้ โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าเป็นการกระทำผิดทางอาญาหรือไม่ เพราะศาลจะต้องรับฟังพยานหลักฐานให้แน่ชัดเสียก่อนว่ากระทำความผิด โดยเฉพาะ 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ว่า การกระทำที่ผิดทางอาญา ทั้ง 2 ศาลยังไม่ได้วินิจฉัย


ขณะที่ประจักษ์พยาน พยานแวดล้อม พยานบุคคลที่นำมาเบิกความต่อศาล ไม่มีพยานคนใดยืนยันว่าอดีตนายกรัฐมนตรี ไปก้าวก่ายแทรกแซงหรือสั่งการใด ๆ เพราะการโอนย้ายต่าง ๆ เป็นเรื่องปกติ และระยะเวลา 4 วันที่บอกว่ามีการเร่งรีบเร่งด่วนเพื่อเอื้อให้ตั้งเครือญาติ ก็เป็นเรื่องที่ข้าราชการประจำซึ่งเป็นพยานบุคคลได้มาเบิกความแล้วว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/kCXCb1xYhyQ

คุณอาจสนใจ

Related News