ข่าวโซเชียล

งดงาม! NARIT เปิดภาพถ่ายฝีมือคนไทย "กระจุกดาวต้นคริสต์มาส" รับเทศกาล

โดย paranee_s

25 ธ.ค. 2566

77 views

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ภาพรับเทศกาลคริสต์มาส โดยระบุว่า นี่คือภาพถ่ายของ #กระจุกดาวต้นคริสต์มาส หรือ NGC 2264 ซึ่งเป็น #ภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย



NGC 2264 ประกอบด้วยเนบิวลาแบบเรืองแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่ และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) ที่มีดาวฤกษ์อายุน้อยที่มีมวลน้อยไปจนถึงดาวฤกษ์มวลมากกว่า 7 เท่าของดวงอาทิตย์ ทั้งหมดนี้อยู่ในกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก



ด้วยลักษณะการเรียงตัวของกระจุกดาวนั้นดูเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายกับต้นคริสต์มาส จึงเรียกว่า Christmas Tree Cluster มีดาวแปรแสงชื่อ เอส โมโนซีโรทิส (S Monocerotis) หรือ 15 โมโนซีโรทิส (15 Monocerotis) อยู่บริเวณตำแหน่งลำต้นของต้นคริสต์มาส



ในขณะที่ดาวแปรแสงอีกดวงหนึ่งซึ่งเป็นดาวยักษ์สีน้ำเงินชื่อ V429 โมโนซีโรทิส อยู่บริเวณตำแหน่งยอดต้นไม้ เหนือขึ้นไปจะเห็นเนบิวลามืดสีแดงคล้ำรูปแท่งกรวย เรียกว่า เนบิวลารูปโคน (Cone Nebula)



สำหรับเนบิวลารูปโคน และบริเวณโดยรอบกระจุกดาวคือก้อนแก๊สไฮโดรเจนขนาดใหญ่ เฉพาะส่วนที่เป็นรูปโคนคือก้อนแก๊สและฝุ่นในอวกาศที่มีอุณหภูมิต่ำ แก๊สและฝุ่นเหล่านี้ดูดซับแสงเรืองของดวงดาว และเนบิวลาที่อยู่ฉากหลังทำให้มันดูมีสีคล้ำกว่า ส่วนนี้มีความกว้างประมาณ 7 ปีแสง



สำหรับโครงสร้างรูปกรวยนั้นมีลักษณะคล้ายกับแท่นเสาแห่งการกำเนิด (Pillar of Creation) ที่อยู่ในบริเวณเนบิวลานกอินทรี (Eagle Nebula หรือ M16) บริเวณกลุ่มดาวงู (Serpens) ส่วนปลายโคนมีกระจุกดาวเปิดประกอบด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยแต่สว่างกลุ่มหนึ่ง เรียงตัวในรูปแบบที่คล้ายผลึกหิมะ บางครั้งจึงเรียกว่า สโนว์เฟลคคลัสเตอร์ (Snowflake Cluster)



ภาพนี้บันทึกและประมวลผลภาพโดย คุณตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ และคุณกีรติ คำคงอยู่ ใช้กล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของ NARIT ติดตั้ง ณ หอดูดาวสปริงบรู๊ค ประเทศออสเตรเลีย

คุณอาจสนใจ

Related News