อาชญากรรม

จับ 2 สามีภรรยาสุดแสบ หลอกคนพิการสแกนหน้าเปิดบัญชีม้า

โดย kanyapak_w

22 ธ.ค. 2566

165 views

วันที่ 22 ธ.ค.66 เวลา 13.30 น. ณ อาคารสัมมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษาฯ และ นายวัลลภ รุจิรากร เลขานุการฯ ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำโดย พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2 พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว “ปฏิบัติการ FAKE PROFILE จับ 2 สามีภรรยา หลอกคนพิการสแกนหน้าเปิดบัญชีม้า”



สืบเนื่องจาก ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้พิการได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากตนเองตกเป็นเหยื่อในการถูกหลอกให้เปิดบัญชีม้า โดยพฤติการณ์ของมิจฉาชีพมักแฝงตัวในกลุ่มหางาน โดยใช้บัญชีเฟซบุ๊กอวตาร



ทักแชทเพื่อสนทนาส่วนตัวกับผู้เสียหายที่เข้าหางานในกลุ่มดังกล่าว แล้วอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากฝ่ายบุคคลของบริษัทต่างๆ ขอนัดสัมภาษณ์งานกับผู้เสียหาย โดยให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารสำหรับสมัครงาน ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบรับรองคุณวุฒิการศึกษา สำเนาหนังสือรับรองคนพิการ (กรณีเป็นคนพิการ) และ รูปถ่ายหน้าตรงของผู้เสียหาย จากนั้นจะนัดพบกับผู้เสียหาย บริเวณศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านนวนคร จ.ปทุมธานี เป็นสถานที่นัดพบ



เมื่อถึงเวลาตรวจเอกสาร มิจฉาชีพจะอ้างว่าผู้เสียหายถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมาไม่ถูกต้อง จะขออาสานำบัตรไปถ่ายสำเนาให้ เมื่อนำบัตรประจำตัวประชาชนมาคืนผู้เสียหายแล้ว ต่อมาจะใช้อุบายว่า



รูปถ่ายของผู้เสียหายที่นำมาใช้ไม่ได้ จึงขอใช้โทรศัพท์มือถือของมิจฉาชีพถ่ายให้แทนเพื่อส่งให้กับบริษัทโดยตรง หรืออาจจะอ้างว่าเพื่อใช้ทำข้อมูลการสแกนใบหน้าสำหรับเข้า-ออกบริษัท แต่แท้จริงแล้ว คือการหลอกให้สแกนใบหน้าเพื่อเปิดบัญชีธนาคาร โดยใช้ข้อมูลจากบัตรประชาชนตัวจริงที่อ้างว่าขอไปถ่ายสำเนาก่อนหน้านี้



เมื่อมิจฉาชีพได้ข้อมูลครบแล้ว จะออกอุบายว่าไปทำธุระโดยให้ผู้เสียหายรอ สุดท้ายก็หลบหนีไป จนภายหลังผู้เสียหายพบว่าประวัติการสนทนาผ่านแชตในมือถือได้ถูกยกเลิกข้อความ และ มิจฉาชีพได้บล็อกบัญชีเฟซบุ๊กของผู้เสียหาย ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้อีก



ต่อมา ผู้เสียหายพบว่าตนเองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกดำเนินคดี เนื่องจากบัญชีธนาคารที่มีชื่อตนเองเป็นเจ้าของบัญชี ถูกนำไปใช้รับโอนเงินจากการหลอกลวงผู้อื่น ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้เปิดบัญชีดังกล่าว จึงรู้ตัวว่าการนัดพบเพื่อสัมภาษณ์งานครั้งนั้นคือการหลอกให้ตนเองเปิดบัญชี จึงได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในเวลาต่อมา



พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท.2, พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ได้สั่งการให้ ว่าที่ พ.ต.อ.อดิชาต อมรประดิษฐ ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3 และ พ.ต.อ.สุวัฒชัย ศรีทองสุข ผกก.1 บก.สอท.2 พร้อมชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.ชนทัช วุฒภัทรโสภณ รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3, พ.ต.ท.อโนทัย ดียิ่ง สว.กก.4 บก.สอท.3 พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3  ร่วมกับพ.ต.ท.วรศักดิ์ รอดสัมฤทธิ์ รอง ผกก.1 บก.สอท.2, พ.ต.ท.กัณห์พิพัฒน์ ปันแสน สว.กก.1 บก.สอท.2พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สอท.2 ทำการสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว เพื่อเร่งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ



เนื่องจากกรณีนี้เป็นการกระทำที่น่าหดหู่ใจ มิจฉาชีพสามารถกระทำได้ลงคอแม้กระทั่งเหยื่อเป็นผู้พิการ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐานจนทราบตัวผู้ก่อเหตุ คือ นางสาวบุสราภรณ์ อายุ 28 ปี ชาวอุดรธานี และ นายประมวล อายุ 36 ปี ชาวบึงกาฬ ผู้เป็นสามีซึ่งทำหน้าที่คอยขับรถพาภรรยาไปหลอกลวงเหยื่อตามสถานที่ต่างๆ ทุกครั้ง จึงได้ขออำนาจศาลออกหมายค้นบ้านพักและหมายจับคู่สามีภรรยาดังกล่าว



ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าจับกุมคู่สามีภรรยาได้บริเวณปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง สาขาปากช่องไฮเวย์ ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พร้อมตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาที่ใช้ในการหลอกลวกผู้อื่น เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า ผู้ต้องหาได้ใช้โทรศัพท์เครื่องดังกล่าว แชทหาเหยื่อเพื่อเตรียมหลอกให้เปิดบัญชีอีกหลายราย



จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้นพร้อมพาผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย เข้าตรวจค้นบ้านพักในพื้นที่ ต.สามเรือน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา พบบัตรเอทีเอ็มและสมุดบัญชีธนาคารจำนวน 6 เล่ม โดยมีทั้งบัญชีธนาคารของผู้เสียหายที่เป็นผู้พิการ และเหยื่อรายอื่นที่ถูกหลอกลวงให้เปิดบัญชี และยังตรวจพบเอกสารประจำตัว ของบุคคลอื่นอีกกว่าจำนวน 20 แผ่น และจากการตรวจสอบเบื้องต้นในระบบรับแจ้งความออนไลน์


พบผู้เสียหายที่ถูกหลอกเปิดบัญชีลักษณะดังกล่าวอีกอย่างน้อย 7 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 660,000 บาท



เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน บก.สอท.2 ดำเนินคดีในความผิดฐาน “ร่วมกันเอาไปเสีย ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน , ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันเป็นการกระทำ ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง, นำบัตรของผู้อื่นไปใช้แสดงว่าตนเป็นเจ้าของบัตร”



คุณอาจสนใจ

Related News