สังคม

“ชลน่าน” สั่งสอบ รพ.เอกชน ปฏิเสธรักษา นทท.ไต้หวัน ถ้าผิดจริงจัดการขั้นเด็ดขาด เหตุไร้มนุษยธรรม

โดย paranee_s

12 ธ.ค. 2566

304 views

จากกรณีข่าวนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันถูกรถเฉี่ยวชนจนหมดสติ ทีมกู้ชีพของมูลนิธิได้ช่วยทำ CPR และนำส่งโรงพยาบาลเอกชนย่านพัฒนาการซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุประมาณ 500 เมตร แต่ถูกปฏิเสธรับตัวผู้ป่วยและให้นำส่งโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตรแทน ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างนำส่งนั้น



นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทันทีที่ได้รับรายงาน ได้สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน ซึ่งหากพบว่าโรงพยาบาลมีการปฏิเสธรับผู้ป่วยจริงตามที่เป็นข่าว จะถือว่ามีความผิดทั้งหลักมนุษยธรรมและหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด



ยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้ามาเยือนประเทศไทย จะไม่ปล่อยให้ไม่ได้รับความปลอดภัย หรือถูกกระทำการใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเด็ดขาด



ด้าน นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. เผย ในวันที่ 9 ธันวาคม ได้มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรม สบส. ดำเนินการตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้น โดยประสานข้อมูลจากศูนย์วิทยุพระนคร และศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเจ้าหน้าที่รายงานว่าได้นำส่งผู้ป่วยชาวต่างชาติ ไปที่โรงพยาบาลเอกชน แต่เจ้าหน้าที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลฯ ปฏิเสธที่จะให้บริการรักษาผู้ป่วย เนื่องด้วยผู้ป่วยไม่มีญาติจึงอาจจะเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ จึงได้มีการนำตัวผู้ป่วยส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสิรินธร และผู้ป่วยรายดังกล่าวได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา



ทางพนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย ได้ดำเนินการยืนยันข้อมูลกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) อีกครั้ง และพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความจริง จึงมีการหารือร่วมกันระหว่าง สบส.และ สพฉ.เพื่อร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ในวันพรุ่งนี้ 13 ธันวาคม เพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ และสอบถ้อยคำจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย



หากพบข้อมูลการกระทำผิด หรือพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าโรงพยาบาลมีการปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจริง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการ หรือผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้น ๆ ซึ่งผู้กระทำผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ