สังคม
ศธ.ชี้คะแนนสอบ PISA เด็กไทยร่วง เพราะโควิด - 'ไอติม' ชี้ถ้าก้าวไกลเป็น รบ.ออกแบบหลักสูตรใหม่ใน 1 ปี
โดย nattachat_c
7 ธ.ค. 2566
174 views
วานนี้ 6 ธันวาคม 2566 ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. เป็นประธานแถลงข่าวผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA โดยมี นายธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เข้าร่วม
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การสอบ PISA จัดโดยองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เป็นการวัดผลความฉลาดรู้ หรือ Literacy ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สำหรับผล PISA ที่ออกครั้งนี้เป็นการวัดผลเมื่อปี 2022 และประกาศผลในปี 2023 ซึ่งผลคะแนนค่อนข้างต่ำ โดยพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เชิญ สสวท. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม มาหารือเรื่องนี้ ว่า เกิดอะไรขึ้นกับผลคะแนน
ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงานเบื้องต้น ที่ทำให้คะแนนประเมิน PISA ต่ำลง ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโควิด 2019 รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความการเข้าถึงเทคโนโลยีที่อาจจะยังไม่ทั่วถึง เหมือนประเทศอื่นๆ ที่ส่งผลให้คะแนน PISA ต่ำลง ยอมรับว่าทุกอย่างเป็นปัญหา และสะท้อนผลการศึกษาของประเทศ ทั้งนี้ รมว.ศธ.ตั้งคณะทำงาน เพื่อติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มข้นและกำชับว่า ในการสอบครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในปี 2025 ผลประเมินจะต้องอยู่ในลำดับที่ดีขึ้น
นายธีระเดช กล่าวว่า PISA ประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยได้ทำการประเมินทุก 3 ปี อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาและมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน
โดยการประเมิน PISA 2022 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับในประเทศไทยสสวท. ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน โดยนักเรียนทำแบบทดสอบและแบบสอบถามด้วยคอมพิวเตอร์ ผ่านทางแฟลชไดรฟ์ นอกจากนี้ ยังเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย
สำหรับผลการประเมิน PISA 2022 ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนจากสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้ สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรกในด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้เป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียทั้งหมด ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง และญี่ปุ่น
ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และด้านการอ่าน 476 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสถิติ
ผลการประเมินของประเทศที่ได้คะแนนด้านคณิตศาสตร์สูงสุดสิบอันดับแรก และผลการประเมินของประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นดังนี้ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี เอสโตเนีย สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา และเนเธอร์แลนด์
ผลการประเมิน PISA 2022 ของประเทศไทย พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และด้านการอ่าน 379 คะแนน ซึ่งทุกวิชามีผลคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD โดยคะแนนเฉลี่ย ด้านคณิตศาสตร์ อยู่ที่ 472 ด้านวิทยาศาสตร์ 485 การอ่าน 476
ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้ง 3 ด้านลดลง โดยด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลการประเมินของประเทศไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ
เมื่อวิเคราะห์ตามสังกัดการศึกษาและกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมการประเมินครั้งนี้ พบว่า กลุ่มโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงสุดห้าอันดับแรก ส่วนกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD สำหรับกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ ยังคงมีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD
จากการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยระหว่างนักเรียนกลุ่มสูง (มีคะแนนตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 ขึ้นไป) กับนักเรียนกลุ่มต่ำ (มีคะแนนต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10) ของประเทศไทยในทั้งสามด้าน พบว่า นักเรียนทั้งสองกลุ่มมีคะแนนเฉลี่ยในแต่ละด้านแตกต่างกันประมาณ 200 คะแนน และเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ความแตกต่างของคะแนนด้านการอ่านและด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนทั้งสองกลุ่มนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนด้านคณิตศาสตร์มีช่องว่างของคะแนนที่แคบลง เนื่องจากนักเรียนกลุ่มสูงมีคะแนนเฉลี่ยลดลงมากกว่าของนักเรียนกลุ่มต่ำ
สำหรับนักเรียนกลุ่มช้างเผือก ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ (ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25) แต่มีคะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป) พบว่าประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มช้างเผือกอยู่ 15% ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 10% จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่ด้อยเปรียบทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมก็สามารถมีผลการประเมินที่ดีได้
นอกจาก PISA จะรายงานผลการประเมินในรูปของคะแนนเฉลี่ยแล้ว ยังรายงานผลเป็นระดับความสามารถในแต่ละด้านซึ่งแบ่งเป็น 6 ระดับ โดยที่ระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนสามารถใช้ทักษะและความรู้ในชีวิตจริงได้ ผลการประเมินครั้งนี้ พบว่า มีนักเรียนไทยที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 32% ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ 69%
ส่วนประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีผลการประเมินสูง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า ญี่ปุ่น จีนไทเป และเอสโตเนีย พบว่า มีนักเรียนมากกว่า 85% ที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป สำหรับด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน ประเทศไทยมีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 47% และ 35% ตามลำดับ ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไปอยู่ 76% และ 74% ตามลำดับ
นางสุพัตรา ผาติวิสันติ์ รองผู้อำนวยการสสวท. กล่าวว่า สสวท. พยายามจะร่วมมือการหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด เพื่อจะทำให้นักเรียนมีความคุ้นเคยกับข้อสอบ เพื่อให้เด็กฝึกผ่านระบบออนไลน์ และอบรมครูร่วมกับกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 13 แห่ง เพื่อขยายผลให้กับครูในโรงเรียนขยายโอกาส
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า ข้อสอบ PISA ในครั้งที่ผ่านมายากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ที่การเรียนรู้ของเด็กอาจจะไม่ได้เต็มที่สมบูรณ์ในช่วงโควิด-19 และทำให้การใช้เหตุผล คิดวิเคราะห์ที่ต้องได้จากห้องเรียนขาดหายไปบ้าง
โดยในการสอบปี 2025 ควรจะต้องส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียน เน้นการคิดวิเคราะห์ เพราะรอบต่อไปข้อสอบจะเน้นหนัก ความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเป็นหลัก ทั้งนี้จะต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ประถมศึกษา ส่วนเด็กที่จะสอบ PISA ในปี2025 ปัจจุบัน กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งคงต้องส่งเสริมพัฒนาอย่างเข้มข้น
-------------
นายธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้กล่าวว่า ที่คะแนนออกมาน้อย มีส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการอ่าน เนื่องจากการสอบ PISA เราต้องมีการอ่านที่ดี ในข้อสอบต้องใช้การอ่านเพื่อให้ตีโจทย์ ตีความหมายได้
-------------
วานนี้ 6 ธันวาคม 2566 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณี คะแนนประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for. International Student Assessment หรือ PISA) ของนักเรียนไทยปีล่าสุดที่มีค่าเฉลี่ยลดลง ว่า คะแนน PISA การศึกษาไทย ลดลงทั้งกระดาน! ถึงเวลาจัดทำหลักสูตรการศึกษาใหม่ฐานสมรรถนะ
เมื่อวานนี้ ทาง OECD ได้มีการเผยแพร่ผลสอบ PISA 2022 ซึ่งเป็นการประเมินทักษะของเด็กและตัวชี้วัดคุณภาพระบบการศึกษาของแต่ละประเทศ ที่มีการวัดผลทุกๆ 3 ปี
สำหรับผลล่าสุด คะแนนของเด็กไทยลดลงมาอยู่ในจุดที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี ในทักษะทั้ง 3 ด้านที่มีการประเมิน โดยมีอันดับอยู่ในครึ่งล่างของตารางทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคอาเซียน:
คณิตศาสตร์: คะแนนลดลง 6% (อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)
การอ่าน: คะแนนลดลง 4% (อันดับ 64 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)
วิทยาศาสตร์: คะแนนลดลง 4% (อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)
ผมเชื่อว่าผลลัพธ์นี้เป็นสิ่งที่หลายคนคาดการณ์ได้เนื่องจากคุณภาพของระบบการศึกษาไทยมีแนวโน้มถดถอยมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา แต่ผมหวังว่าผลลัพธ์นี้จะเป็นอีก “สัญญาณเตือนภัย” ที่ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นชัดว่าการศึกษาไทยกำลังอยู่ในขั้น “วิกฤต”
ผมย้ำเสมอว่าการที่เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่กลับมีทักษะที่ตามหลังหลายประเทศ สะท้อนให้เห็นชัดว่าปัญหาของการศึกษาไทย ไม่ใช่เพราะเด็กไทยไม่ “ขยัน” แต่เป็นเพราะ “ระบบการศึกษา” ไม่สามารถแปรชั่วโมงเรียนและความขยันของนักเรียนให้ออกมาเป็นทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับระบบการศึกษาของประเทศอื่น
แม้การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยจำเป็นต้องอาศัยหลายมาตรการ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าขาดไม่ได้ คือการ “จัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่” มาแทนที่หลักสูตรปัจจุบันที่ไม่ได้มีการเขียนใหม่หรือปรับปรุงขนานใหญ่มาหลายปี
หากวันนี้ก้าวไกลมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล เราจะชวนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (เช่น ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ครู นักเรียน ผู้ปกครอง) มาร่วมออกแบบหลักสูตรให้เสร็จภายใน 1 ปี (เนื่องจากหลายภาคส่วนมีการพัฒนาข้อเสนอเรื่องหลักสูตรใหม่มาสักพักแล้ว) เพื่อเริ่มทยอยนำมาใช้ในแต่ละระดับชั้นให้ครบทั้งหมดภายในวาระของรัฐบาล
ในมุมมองของผม “เป้าหมายหลัก” ของหลักสูตรใหม่ ควรเป็นการเน้นพัฒนาทักษะ-สมรรถนะที่นำไปใช้ได้จริงในอาชีพการงานและในชีวิต โดยผมขอเสนอกรอบเบื้องต้นสำหรับการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมดังต่อไปนี้:
1. ปรับวิชาหรือเป้าหมายของวิชาให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักเรื่องทักษะ-สมรรถนะ - ทบทวนวิชาที่ควรมีหรือไม่มี รวมถึงการปรับเป้าหมายของแต่ละวิชาให้เน้นทักษะที่สำคัญ มากกว่าแค่การอัดฉีดเนื้อหาหรือข้อมูลให้กับผู้เรียนเป็นหลัก (เช่น ภาษาอังกฤษที่เน้นการสื่อสาร / วิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิเคราะห์-ถกเถียง-แลกเปลี่ยน)
2. ปรับวิธีการสอน - เสริมทักษะให้ครูสามารถพลิกบทบาทจาก “ครูหน้าห้อง” ที่เน้นถ่ายทอดความรู้หรือข้อมูลผ่านการบรรยายทางเดียว มาเป็น “ครูหลังห้อง” ที่เน้นสร้างบรรยากาศและจัดสรรเวลาในห้องเรียนให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้น
3. ลดจำนวนชั่วโมงเรียนและคาบเรียน - ปรับจาก 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือประมาณ 800-1,000 ชั่วโมงต่อปีตามมาตรฐานสากล โดยลดเนื้อหาการเรียนหรือกิจกรรมในส่วนที่จำเป็นลง เพื่อเน้นที่คุณภาพของชั่วโมงเรียน และให้นักเรียนเหลือเวลาเพียงพอสำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการพักผ่อน
4. ลดภาระการบ้านและการสอบแข่งขันที่หนักเกินไป - ปรับใช้วิธีประเมินผลรูปแบบอื่น (เช่น การบูรณาการการบ้านหลายวิชา การทำกิจกรรมในเวลาเรียน การทำโครงการกลุ่ม) เพื่อลดภาระและความเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเยาวชนไทย
5. เพิ่มเสรีภาพในการเรียนรู้ - ลดวิชาบังคับ และเพิ่มวิชาทางเลือก ให้นักเรียนได้มีอิสรภาพและส่วนร่วมในการออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อโอบรับความหลากหลายของผู้เรียนที่มีความถนัดและความชอบที่แตกต่างกัน
6. เพิ่มการตรวจสอบโดยประชาชน - เพิ่มกลไกในการทำให้หนังสือเรียนและข้อสอบปรับตามและสอดรับกับหลักสูตรใหม่ ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มให้ประชาชนตรวจสอบเนื้อหาหนังสือเรียน และการเปิดข้อสอบ TCAS ย้อนหลังทั้งหมดพร้อมเฉลย
7. กระจายอำนาจด้านการออกแบบหลักสูตร - วางระบบให้มีหลักสูตร 3 ระดับ (แกนกลาง-จังหวัด-สถานศึกษา) ควบคู่กับการลดกลไกควบคุมจากส่วนกลาง เพื่อให้โรงเรียนมีอำนาจมากขึ้นในการออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของผู้เรียนในแต่ละโรงเรียน
8. วางกลไกสำหรับการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง - กำหนดให้ทบทวนหลักสูตรแกนกลางทุก 4 ปี เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและทักษะที่จำเป็นในแต่ละยุคสมัย
9. ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต - ออกแบบสภาพแวดล้อมและการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เอื้อต่อการ “เติมไฟ” ให้นักเรียนมีความพร้อมในการตั้งคำถามและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยความตระหนักดีว่าการเรียนรู้ไม่ควรจำกัดอยู่ที่โรงเรียนหรือแค่ในช่วงวัยเรียน
--------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/Irk-es7LWE8