เศรษฐกิจ

กล้วยหอมทองราคาพุ่งสูงกิโลกรัมละ 22 บาท เกษตรกรยิ้มแก้มปริ

โดย kanyapak_w

5 ธ.ค. 2566

1.2K views

กล้วยหอมทองราคาพุ่งสูงกิโลกรัมละ 22 บาท เกษตรกรยิ้มแก้มปริ หลังตลาดญี่ปุ่นสั่งซื้อออเดอร์ 8,000 ตัน



วันนี้ (5 ธันวาคม 2566) สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ ต.สุขไพบูลย์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา กำลังทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตกล้วยหอม เพื่อนำมาส่งให้กับทางกลุ่มแปลงใหญ่ เพื่อกระจายสินค้าออกสู่ท้องตลาดกันอย่างคึกคัก หลังจากที่ในช่วงนี้ราคากล้วยหอมทองปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดราคากล้วยหอมทองคุณภาพเกรดเอ มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 22 บาท เนื่องจากความต้องการของตลาดมีสูงและผลผลิตที่จะออกสู่ท้องตลาดมีน้อย อันเนื่องมากจากพื้นที่การเพาะปลูกลดลงเนื่องจากราคาพืชเกษตรหลักอย่างมันสำปะหลังในพื้นที่อำเภอเสิงสางราคาดี จึงทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งหันไปปลูกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น



นายสมศักดิ์ แสงรัมย์ อายุ 50 ปี ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ บอกว่า กล้วยหอมทองถือเป็นพืชทางเลือกใหม่ที่กำลังสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี ตัวเองเริ่มต้นสนใจปลูกหลังจากที่ที่เกิดปัญหาเรื่องโรคใบด่างในมันสำปะหลังแพร่ระบาดที่เป็นพืชหลักเดิม ซึ่งปลูกกันมาช้านานรวมถึงปัญหาต่างๆทั้งในเรื่องของราคาที่ตกต่ำ สวนทางกับต้นทุนและค่าแรงงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จนมีหนี้สินพันตัวเป็นจำนวนมาก โดยได้ศึกษาหาพืชชนิดอื่นเพื่อมาปลูกทดแทนผ่านทางโลกออนไลน์ต่างๆ จนพบว่ากล้วยหอมทองเป็นพืชที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและพื้นที่ จึงเดินทาไปศึกษาเรียนรู้จากแหล่งเพาะปลูกใหญ่ที่จังหวัดปทุมธานี และทดลองนำมาปลูกเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้ผลผลิตดี เป็นที่ต้องการของตลาด ก่อนที่จะกระจายความรู้ไปยังเพื่อนเกษตรกรและมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐจนกลายมาเป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ในที่สุด เฉพาะส่วนตัวตอนนี้ปลูกกล้วยหอมทองงเอาไว้มากกว่า 100 ไร่แล้ว



นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า เดิมทีกลุ่มผู้ปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่อำเภอเสิงสาง จ.นครราชสีมานั้นมีมากกว่า 100 ราย แต่ปัจจุบันในกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ฯ เหลืออยู่เพียง 40 ราย ทั้งนี้สาเหตุมาจากราคามันสำปะหลังที่ปรับตัวสูงขึ้นจึงทำให้เกษตรกรบางส่วนหันหลับไปปลูกมันสำปะหลังกันมากขึ้น เพราะการดูแลไม่ยุ่งยากมากนัก โดยในตอนนี้ในพื้นที่มีการเพาะปลูกกล้วยหอมทองอยู่ประมาณ 800 ไร่ ให้ผลผลิตออกสู่ตลาดได้ประมาณ 250 ตันต่อเดือน หรือประมาณ 3,000 ตัน ต่อไป ในขณะที่ความต้องการของตลสดมีสูงถึง 8,000 ตันต่อปี ทำให้ตอนนี้ราคากล้วยหอมทองปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว ล่าสุดราคากล้วยหอมทองเกรดเอ สูงถึงกิโลกรัมละ 22 บาทแล้ว ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมมีรายได้ต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตมากกว่า 2 แสนบาทต่อไร่แล้ว



ขณะเดียวกันนอกจากตลาดภายในประเทศที่ตอนนี้มีความต้องการผลผลิตกล้วยหอมที่สูงอย่างมากแล้ว ทางภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องยังมีการช่วยผลักดันและหาตลาดทางเลือกใหม่เข้ามาให้แก่เกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดตอนนี้ทางกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ ได้ทำสัญญากับคู่ค้าจากประเทศญี่ปุ่นในการส่งออกผลผลิตกล้วยหอมทองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากกล้วยหอมมีคุณภาพรสชาติดี เหนียวนุ่ม เป็นที่ถูกใจของตลาดญี่ปุ่น โดยมีโควต้าการส่งออกมากถึง 8,000 ตันต่อปี ในราคารับประกันที่ 19 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงหากเทียบกับต้นทุนการเพาะปลูก จึงยิ่งทำให้สถานการณ์ของเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่มั่นคงมากยิ่งขึ้นไปอีก ล่าสุดตอนนี้ทางกลุ่มกำลังเริ่มดำเนินการก่อสร้างศูนย์ตรวจคัดแยกแพ็คสินค้าและโกดังเก็บผลผลิตเพื่อเตรียมส่งออกสินค้าแล้ว คาดว่าจะเสร็จสิ้นทันต่อการส่งออกผลผลิตในปลายปีนี้อย่างแน่นอน



นายโยธิน มุละสีวะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาการตำแหน่งเกษตรอำเภอเสิงสาง เปิดเผยว่า ในพื้นที่อำเภอเสิงสางเป็นพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังเป็นส่วนใหญ่โดยมีพื้นที่การเพาะปลูกประมาณ 66,000 ไร่เศษ รองลงมาก็คือข้าวประมาณ 36,000 ไร่ ส่วนพืชอื่นก็จะเป็นพืชส่วนอีกประมาณ 3,000 ไร่ ในส่วนของกล้วยหอมทองนั้น เริ่มมีการเพาะปลูกเมื่อประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา มีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกแล้วประมาณ 4,000 ไร่ ที่ผ่านมากล้วยหอมทองของอำเภอเสิงสางเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ เป็นที่ดึงดูดใจของท้องตลาด จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งระดับบนและระดับล่าง รวมไปถึงตลาดประเทศ



ซึ่งล่าสุดตอนนี้มีคู่ค้าจากประเทศญี่ปุ่นด้วยการส่งเสริมจากทางกระทรวงพาณิชย์และภาคส่วนต่างๆ มาทำสัญญารับซื้อผลผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มส่งออกผลผลิตได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งข้อดีของการมีคู่ค้าระหว่างก็จะทำให้ปัญหาสินค้าล้นตลาดอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาผลผลิตตกต่ำนั้นลดน้อยลง มีการรับประกันราคาที่เป็นธรรม สร้างรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตทีดีของเกษตรกรในพื้นที่ต่อไปด้วย






แท็กที่เกี่ยวข้อง  กล้วยหอม

คุณอาจสนใจ