เลือกตั้งและการเมือง

"วิโรจน์" ยื่นหนังสือ DSI สอบคดี "ผกก.เบิ้ม" ก่อนเสียชีวิตเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายหรือไม่

โดย paranee_s

21 พ.ย. 2566

1.1K views

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เดินทางมายื่นหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อร้องให้ตรวจสอบกรณีการเสียชีวิตของ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไธสงค์ อดีต ผกก.2 บก.ทล. หรือ ผกก.เบิ้ม อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย



โดยนายวิโรจน์ระบุว่า ตามที่ปรากฏตามสื่อมวลชนว่า ก่อนการเสียชีวิตของผู้กำกับเบิ้ม ในวันที่ 10 กันยายน ผู้กำกับเบิ้มถูกพาไปพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านเมืองทองธานีและถูกยึดโทรศัพท์มือถือ พร้อมทั้งมีตำรวจเฝ้าบริเวณด้านหน้าห้องพัก ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่า น่าจะมีการเฝ้าในบริเวณโรงแรมด้วย จนทำให้ผู้กำกับเบิ้มต้องลักลอบเดินทางกลับบ้านโดยใช้ทางหนีไฟ



ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนำมาสู่ข้อสงสัยก่อนการเสียชีวิตของผู้กำกับเบิ้มว่า ทำไมผู้กำกับเบิ้มต้องหนีออกทางช่องทางหนีไฟ ทำไมไม่เดินกลับบ้านขึ้นแท็กซี่ตามช่องทางเข้าออกของโรงแรมตามปกติ นั่นจึงนำมาสู่คำถามที่ว่า ก่อนหน้านั้นมีการกระทำอันใดที่เข้าข่ายทำให้ผู้กำกับเบิ้มทรมานจิตใจและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่



อีกทั้งการพาผู้กำกับเบิ้มไปนอนโรงแรมและยึดโทรศัพท์โดยไม่มีการแจ้งให้ครอบครัวรับทราบ เป็นการปกปิดชะตากรรมของผู้กำกับเบิ้มหรือไม่ ซึ่งข้อสงสัยทั้งหมดนี้ ถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.อุ้มหาย จึงนำมาสู่การนำเรื่องดังกล่าวให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนสอบสวนต่อไป



นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า การเสียชีวิตของผู้กำกับเบิ้ม และ พ.ต.ต.ศิวกร อาจจะมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องโยงใยกับกรณีส่วยรถบรรทุก ตามที่ทราบกันว่ามูลค่าของการทุจริตสูงถึง 20,000 ล้านกว่าบาทต่อปี และประชาชนก็มีข้อสงสัยว่า มีการส่งต่อผลประโยชน์ให้กับข้าราชการตำรวจระดับสูงหรือไม่ ถือว่าเป็นคดีที่มีความซับซ้อนและกระทบกระเทือนกับศีลธรรมอันดีของประชาชนกับความมั่นคงของประเทศ



จึงไม่แปลกที่ทำไมประชาชนตั้งข้อสงสัยว่า การเสียชีวิตของตำรวจทั้งสอง จะมีเรื่องส่วยรถบรรทุกเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งการเสียชีวิตของผู้กำกับเบิ้มที่อาจจะมีการกดดันและบีบคั้นย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก่อนการเสียชีวิต เลยมองว่าคดีนี้เข้าข่ายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษได้ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย



จึงหวังว่า DSI จะดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและเป็นธรรม พร้อมกับมีคำตอบให้กับสังคมโดยเร็วที่สุด เพราะเนื่องจากตอนนี้องค์กรตำรวจไม่ได้อยู่ในสถานะที่ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจได้และยังคลางแคลงใจจากกรณีรถบรรทุกตกหลุมที่ถนนสุขุมวิท ซึ่งมีนายตำรวจระดับสูงนายหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสอบสวนส่วยสติกเกอร์ B ของรถบรรทุกคันนั้น ออกมาชี้นำการสอบสวนว่า สติกเกอร์ดังกล่าวไม่ใช่ส่วย ก่อนสุดท้ายผลการสอบสวนตัดสรุปอย่างรวดเร็วว่า เป็นสติกเกอร์เสริมดวงชะตา ไม่ใช่สติกเกอร์ส่วย



จึงมองว่า นายตำรวจผู้นั้นเกี่ยวข้องอะไร ทั้งที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่ได้มอบหมายให้ตำรวจนายนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสอบสวนและหากเป็นสติกเกอร์เสริมดวงจริง แนะนำว่าให้เปลี่ยนหมอดูใหม่จะดีกว่า เพราะติดปุ๊บตกถนนปั๊บ ไม่น่าจะเป็นการเสริมดวงชะตา อีกทั้งสมาพันธ์รถบรรทุกก็ไม่เคยออกมายืนยันว่า สติกเกอร์ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับส่วย จึงหวังว่า DSI จะยังคงเป็นที่พึ่งอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ต่อไป



ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า การเสียชีวิตของผู้กำกับเบิ้มก็ผ่านมาหลายเดือนแล้ว ทำไมนายวิโรจน์เพิ่งมายื่นในวันนี้ นายวิโรจน์ระบุว่า จากรายงานข่าวตามสำนักต่าง ๆ นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตในหลาย ๆ ประเด็น ซึ่งที่ผ่านมานั้น ตนและทีมกฎหมายของพรรคก็ได้รวบรวมข้อมูลอย่างครบถ้วนและสุจริต



เมื่อแน่ชัดแล้วว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย จึงนำมาสู่การยื่นหนังสือในวันนี้ ส่วนผลการสอบสวนเป็นอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่ทาง DSI จะดำเนินการสอบสวนต่อไป อีกทั้งตนมองว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ถือว่าดีมาก ๆ ตนก็อยากให้สังคมได้รับรู้ถึงประโยชน์ของกฎหมายนี้ว่า มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไร



สำหรับประเด็นที่ DSI ควรจะต้องสอบสวนนั้น ตนมองว่าประเด็นแรก คือการไปพักที่โรงแรมของผู้กำกับเบิ้ม ซึ่งอาจจะมีข้อโต้แย้งว่าเป็นการไปโดยสมัครใจ แต่ DSI ต้องสอบสวนให้ได้ว่า ถ้าสมัครใจ เหตุใดถึงต้องยึดมือถือไว้ เหตุใดถึงต้องมีตำรวจเฝ้าหน้าห้อง ถ้าไม่มีตำรวจเฝ้าหน้าห้อง ก็คงไม่มีเหตุจำเป็นที่ผู้กำกับเบิ้มจะต้องหลบหนีออกจากโรงแรมตอนตี 4 ทางช่องทางหนีไฟ ตนมองว่าเรื่องนี้วิญญูชนทั่วไปก็คงจะเดินทางกลับออกจากโรงแรมตามช่องทางเข้าออกตามปกติมากกว่า แต่ภาพวงจรปิดค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการหลบหนีมากกว่า เพราะผู้กำกับเบิ้มก็มีลักษณะกระวีกระวาดขณะเดินออกจากโรงแรม



อีกประเด็นหนึ่งคือ สาเหตุที่ไม่สามารถตามตัวผู้กำกับเบิ้มได้ ก็เพราะว่ามือถือไม่ได้อยู่กับตัวผู้กำกับเบิ้ม และถ้าภรรยาของผู้กำกับเบิ้มทราบว่า สามีนอนอยู่ที่โรงแรมจริง จะมีเหตุจำเป็นอะไรที่ในวันที่ 11 กันยายน จะต้องกระวีกระวาดโทรตามหาผู้กำกับเบิ้ม



ทั้งนี้ การร้อง DSI ดังกล่าว ไม่ใช่เป็นร้องเพราะติดใจสาเหตุการเสียชีวิต เพราะตนก็เชื่อในผลการชันสูตรพลิกศพว่า ผู้กำกับเบิ้มลั่นไกยิงตัวเอง เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นสำคัญคือ เหตุการณ์ก่อนการเสียชีวิตของผู้กำกับเบิ้ม ตนมองว่ามีข้อสงสัยหลายประการและเรื่องนี้จะต้องมีการสอบสวนว่า มีการกดดันบีบคั้นสภาพจิตใจและย้ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้กำกับเบิ้มอย่างมากจนทรมานและสังหารตัวเองหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ผู้กำกับเบิ้มเองก็เพิ่งมีลูกกำลังเล็ก ในฐานะหัวอกคนเป็นพ่อ ลำพังจะตัดสินใจฆ่าตัวตายได้อย่างไร เพราะต้องมีความยับยั้งชั่งใจในเรื่องลูก จึงเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะเข้าข่ายทรมานจิตใจ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย อย่างแน่นอน



ส่วนที่ก่อนหน้านี้นั้น มีนายตำรวจระดับสูงให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เหตุผลที่จะต้องยึดโทรศัพท์ของผู้กำกับเบิ้ม เนื่องจากกลัวว่าผู้กำกับเบิ้มจะเสพสื่อสังคมออนไลน์มากจนเกิดภาวะเครียด เลยต้องยึดโทรศัพท์ด้วยความเป็นห่วง นายวิโรจน์ มองว่า ลำพังคนเป็นผู้กำกับคงไม่ยอมให้ถูกยึดโทรศัพท์ไปง่าย ๆ



และตนมองว่า โดยวิสัยของวิญญูชนทั่วไปแล้ว การให้คนที่มีภาวะเครียดคอยเปิดโทรศัพท์เอาไว้ตลอดเวลา เผื่อมีเรื่องฉุกเฉินจะได้โทรหากัน ติดต่อได้หรือให้เพื่อนโทรมาระบายความเครียด นี่คือการแสดงความเป็นห่วงเป็นใยที่แท้จริง มิใช่ยึดโทรศัพท์อุปกรณ์การสื่อสารไปเช่นนี้ เพราะนั่นจะทำให้ไม่สามารถติดต่อหาเพื่อนที่เครียดได้ ถือว่าผิดวิสัยของวิญญูชน ซึ่งตนมองว่าเรื่องนี้น่าจะมีการโต้แย้งกันไปมา จึงควรจะต้องมีการสอบสวนเรื่องนี้ให้ข้อเท็จจริงกระจ่าง



นายวิโรจน์ ระบุว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยคุยกับนายตำรวจระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับผู้กำกับเบิ้ม และตนมองว่าเรื่องนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษจะดีกว่า การตอบคำถามของตำรวจต่อพนักงานสอบสวน DSI จะมีผลต่อคดีอย่างแน่นอน



อีกทั้งยังย้ำว่า การมาร้องเรียนครั้งนี้ไม่ใช่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต แต่เป็นการตรวจสอบเหตุการณ์ก่อนการเสียชีวิต เพราะเชื่อว่านี่จะเข้าข่ายเหมือนกรณีการฆาตกรรม พ.ต.ต.ศิวกร ที่เป็นการรูดซิปปิดม่านกรณีส่วยรถบรรทุก ที่มักจะลงเอยด้วยการมีนายตำรวจระดับสูงมาชี้นำการสอบสวนและปิดจบว่า ไม่พบส่วยรถบรรทุกแต่อย่างใด



ด้านนายต่อพงษ์ จีนใจน้ำ หรือทนายเข้ม สมาชิกพรรคก้าวไกล ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.อุ้มหายโดยสังเขปว่า พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้กำกับเบิ้มนั้น เข้าข่ายเป็นการคุมขังตามมาตรา 3 หรือไม่ หากเข้าข่ายจะต้องดำเนินการตามมาตรา 22 ซึ่งจะต้องบันทึกภาพถ่ายวิดีโอและจะต้องแจ้งให้กับพนักงานอัยการหรือฝ่ายปกครองในท้องที่รับทราบ ซึ่งหากพบว่าไม่มีการดำเนินการ จะมีความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนสาเหตุที่ต้องมายื่นกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะตามมาตรา 29 วางหลักว่า ผู้ใดที่พบเห็นการกระทำลักษณะข้างต้น สามารถแจ้งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสอบสวนได้และจะกลายเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 31 วรรคสอง

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ