เลือกตั้งและการเมือง

'พิธา' สัมภาษณ์พิเศษ มองการเมืองไทย เงินแจก 1 หมื่น-กระตุ้นเศรษฐกิจ-อนาคตการเมือง

โดย weerawit_c

18 พ.ย. 2566

51 views

วานนี้ (17 พ.ย.66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการ THE STANDARD NOW โดยมี ออฟ พลวุฒิ สงสกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ เผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กและยูทูป THE STANDARD


ช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ พิธีถามว่า บทบาทการทำงานในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทำอะไร?  นายพิธา บอกว่า ก็ยังทำงานเหมือนเดิม แต่ถ้าจะตอบคำถามได้ตรง คือ “ต้องไม่ทำตัวเป็นอะไรมากว่า คือ  ต้องไม่ทำตัวเป็นหัวหน้าคนที่สอง” เพราะตนเชื่อว่า การเป็นหัวหน้าที่ดี การทำงานเป็นทีมที่ดี ต้องทำได้หลายบทบาท และต้องรู้ Position ตัวเอง  รู้หน้าที่ตัวเอง ตอนนี้หัวหน้าพรรคก้าวไกล คือ คุณชัยธวัช ตุลาธน , รองหัวหน้าพรรค คือ คุณศิริกัญญา ตันสกุล , คนที่ต่อสู้กับเรื่องเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น ประธานเกี่ยวกับการทหาร คือ คุณวิโรจน์ ลัขณาอดิศร  สำหรับตนเองนั้น ไม่ได้ต้องการที่จะอยู่ในกระแส หรือต้องอยู่กับสื่อให้เห็นทุกวันว่าไปทำอะไร ดังนั้นตอนนี้ ตนก็ยังทำงานเหมือนเดิมทุกอย่าง เพียงแต่อาจจะไม่ได้บอกให้สื่อรับรู้ หรือไม่ได้อยู่ในโซเชียลมีเดียตลอดเวลา เพราะขณะนี้เป็นเวลาของคุณชัยธวัช  


“ผมต้องสนับสนุนเขา  เหมือนกับที่เขาสนับสนุนผม” อารมณ์ก็เหมือนกับไมเคิล จอร์แดน กับสก็อตตี้ พิพเพ่น อดีตนักบาส หรือตนอาจจะเป็นรอน ฮาร์เปอร์ด้วยซ้ำไป  (การ์ดเบอร์รองที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของจอร์แดน) ที่เป็นคนคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง  ตนทำงานก็ยังคุยกับคุณชัยธวัช คุณศิริกัญญาอยู่เสมอ แต่ตนจะไม่ออกมาออกสั่งว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้  ซึ่งในมุมของพรรค สิ่งที่ตนทำคือ การสร้างสมาชิกพรรคให้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย และฐานสมาชิกที่อยู่ในต่างประเทศ  


นายพิธา ยังระบุว่า ตนจะทำในจุดแข็งที่ตนมี ในเรื่องที่นายชัยธวัชอาจจะไม่มีเวลา หรือยังไม่มีใครทำ ตนก็จะลงไปทำ เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกัน  ตนไม่ต้องการให้เป็นองค์กรแบบสองนายก สองประธานสภา สองหัวหน้า  เพราะองค์กรไหนก็คงไม่ต้องการเป็นแบบนั้น  ตอนนี้จึงยังทำงานใกล้ชิดกับแกนนำพรรคก้าวไกลเหมือนเดิม แต่จะเลือกเวลาในการปรากฎตัว เวลาในการออกมาพูดแล้วเป็นประโยชน์กับประชาชน


เมื่อพิธีกรถามว่า มีกรณีที่คนตั้งข้อสังเกตว่า “เศรษฐาอยู่ไหน พิธาอยู่นั่น” พูดเรื่องเดียวกันในเวลาเดียวกัน เช่น นายกฯ เศรษฐา ออกมาพูดเรื่องอิสราเอลฮามาส นายพิธาก็ออกมาพูดเรื่องนี้เช่นกัน เหมือนกับมีพระอาทิตย์สองดวงเปรียบเทียบกัน เหมือนตั้งใจเป็นเกมทางการเมืองให้คนนึกถึงว่า อย่าลืมพิธานะ อย่าลืมผู้นำที่ประชาชนเลือก  นายพิธา ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ตนไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเป็น Shadow Prime Minister อย่างระบบอังกฤษ ตนรู้หน้าที่ว่าอะไรที่ควรทำ อะไรที่ไม่ควรทำ พร้อมกับยกตัวอย่างโศกนาฏกรรมกราดยิงที่ห้างพารากอน ซึ่งตนก็เงียบ แต่มี สส.ของพรรคที่ลงพื้นที่ไปดูแลประชาชนแบบเงียบๆ ไม่ได้ต้องการแสงอะไร แต่เรื่องฮามาส-อิสราเอล ตนเคยทำเรื่องนี้มาก่อน พอจะมีความรู้ในเรื่องนี้ จึงอยากทำประโยชน์เพื่อประชาชน เพื่อประเทศ


นายพิธา ยังพูดถึงกรณีที่อาจจะกลับมาเป็น สส.หรือกลับมาทำงานในสภาอีกครั้ง สิ่งที่ตนมีในหัวคือ คำว่า Alternative Thailand ตนไม่ต้องการเป็นฝ่ายค้านที่ค้านไปซะทุกเรื่อง


สำหรับประเด็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น นายพิธา มองว่า เงิน 5 แสนล้านบาท น่าจะนำมาส่งเสริม หรือแก้ไขที่โครงสร้างในหลายเรื่อง  ไม่ใช่แค่เอาเงินในอนาคต มาทำโปรโมชั่นในตอนนี้ เช่น ค่าไฟ หรือการแจกเงิน   นายพิธา กล่าวว่า แน่นอน เศรษฐกิจมีปัญหา ต้องมีการกระตุ้น แต่เมื่อย้อนหลังตัวเลขไป 10 ปี ก็มีคำถามว่า ประเทศไทยต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจกันแน่  ต้องการการอัดฉีดเข้าไปครั้งเดียวแล้วจบ ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่า ฉีดเข็มเดียวจะช่วยได้ในระยะยาวหรือไม่  หรือควรจะเป็นการปรับโครงสร้างการใช้งบประมาณแบบใหม่ไปเลยหรือไม่ คือ การมองทั้งระบบ แก้ทั้งระบบ  แก้ทั้งโครงสร้าง จะดีกว่าหรือไม่  


นายพิธา ยังบอกด้วยว่า คู่แข่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่คุณไหม ศิริกัญญา แต่เป็น Digital Footprint คือสิ่งที่เคยคิดอะไรไว้ เคยพูดอะไรไว้ สัญญาอะไรไว้  


เมื่อพิธีกรถามว่า หากมองในมุมกลับกัน ถ้าพรรคก้าวไกลเข้ามาเป็นรัฐบาล เงื่อนไขทางการเมืองอาจจะเปลี่ยน เช่น มีพรรคร่วม , ตัวเลขการเงินการคลัง , ความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ข้าราชการระดับสูง หรือผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจเป็นไปได้หรือไม่ที่นโยบายจะเปลี่ยนไปจากที่พูดไว้ตอนแรก นายพิธา ตอบว่า เจตนาของตนโปร่งใสตั้งแต่ทำเอ็มโอยู 8 พรรค  แน่นอนว่า สถานการณ์ในโลกที่เปลี่ยนผัน ต้องมีความยืดหยุ่นแต่ก็ต้องสื่อสารไม่สับสน และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า เราพยายามทุกวิถีทางแล้วที่จะรักษาคำพูด ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะให้อภัยหรือไม่  แต่การฉีกเอ็มโอยู แล้วอ้างว่าไม่เคยมีอยู่ในนโยบายของตนเอง  ก็คงต้องให้ประชาชนวิเคราะห์ว่า มันควรจะเป็นอย่างไร


เมื่อพิธีกรถามถึงกรณีที่มีข้อถกเถียงจากหลายฝ่าย ว่าหน้าตารัฐบาลปัจจุบัน ที่ไม่ตรงกับพรรคที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 แล้วประชาธิปไตยไทยจะเกิดขึ้นหรือไม่  นายพิธา กล่าวว่า  คำถามที่สำคัญคือ  เพราะอะไร คนที่ชนะการเลือกตั้ง จึงไม่ได้บริหารประเทศ คำตอบคือ เพราะมันเป็นระบบรัฐสภาร่วม ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งต่างชาติก็วิเคราะห์ว่า นายกรัฐมนตรีไทยที่มาจากการเลือกตั้ง คนเลือกมา 15 ล้านคน แต่แพ้องค์ประชุม เพราะ สว. 50 คน ไม่มาเลือกนายกฯ ในวันนั้น และมีกี่คนที่พูดต่อสาธารณชนว่าจะโหวตตามมติประชาชน  เพราะประเทศไทยยังเป็นประชาธิปไตยที่มีทั้งการเลือกตั้งและลากตั้ง หรือแต่งตั้งอยู่ ก็เป็นเหตุผลให้อันดับ 1 ไม่ได้เป็นนายกฯ ชนะใจประชาชนได้ แต่ไม่สามารถชนะใจรัฐสภาได้


ส่วนมองอนาคตการเมือง อนาคตประชาธิปไตยอย่างไรนั้น นายพิธา มองว่า หลายครั้งหลายหนที่อาจจะคิดว่าพรรคที่เป็นคู่แข่งกันจะไม่มีวันมาบรรจบกันได้ แต่มันไม่จริงเสมอไปในการเมืองไทยและในการเมืองโลก  สำหรับตน จะยึดเอาประชาชนและหลักการเป็นที่ตั้ง ก่อนที่จะดูชื่อพรรคและบุคคล ว่า หากคราวหน้าตนชนะการเลือกตั้งและจะมีการเซ็นเอ็มโอยูอีก ตนก็ต้องพิจารณาว่าจะไม่หักหลังตน ตนไม่ได้เป็นเด็กดื้อที่จะไม่มีเพื่อนเลยในการเมืองไทย แต่ตนยึดประชาชนและหลักการเป็นที่ตั้งก่อน  ซึ่งถ้าประชาชนเห็นด้วยกับหลักการแบบนี้  คราวนี้ให้น้ำหนักทางการเมืองตนมา 151  คราวหน้า ต้องให้น้ำหนักทางการเมืองกับตนมากกว่านี้ จนกระทั่งตนมีอำนาจต่อรองในการฟอร์มรัฐบาล สามารถทำตามสิ่งที่สัญญาไว้กับประชาชนด้วยวิธีการที่ถูกต้อง  


เมื่อพิธีกรถามย้ำว่า คราวหน้าต้องแลนด์สไลด์หรือไม่ นายพิธา บอกว่า ต้องชนะให้ได้มากกว่าเดิม 170-180 ที่นั่ง เป็นต้น


ส่วนที่มีคดีถูกร้องในศาลรัฐธรรมนูญ กรณีถือหุ้นไอทีวี และกรณีนโยบายหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 ตนมองว่า ถ้าประเทศไทยมีความยุติธรรม ตนก็ยังมั่นใจ และหากศาลพิพากษาว่าตนไม่ผิด สิ่งแรกคือกลับเข้าสภา แล้วแต่พรรคและสมาชิกพรรคว่า อยากจะให้ตนกลับมาเป็นหัวหน้าพรรค หรือผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่ แต่ส่วนตัวแล้วตนไม่อยากเป็น แต่ถ้าพรรคอยากให้เป็นก็ต้องรอฟังมติพรรค  ส่วนจะกลับมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ นายพิธาตอบว่า ถ้าไม่มีใครมาแก้กฎหมายสกัดตน ก็ยังเป็นได้ด้วย ซึ่งถ้าจะกลับมา ก็จะกลับมาทั้งในตำแหน่ง สส. , หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯ  ก็ขึ้นอยู่กับมติพรรค  


ส่วนที่รัฐสภา พรรคก้าวไกล เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม “SocDem Asia Pacific - Progressive Alliance Conference 2023 : The Future of Democracy : Realizing People Power” (การประชุมเครือข่ายสังคมประชาธิปไตยเอเชียแปซิฟิก - พันธมิตรฝ่ายก้าวหน้า 2023 : อนาคตประชาธิปไตยและการทำให้อำนาจประชาชนปรากฏเป็นจริง)


ซึ่งเป็นการประชุมร่วมของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างพรรคการเมืองแนวสังคมประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่พรรคก้าวไกลเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิกเครือข่าย โดยมีตัวสมาชิกจากพรรคการเมืองจากหลากหลายประเทศเข้าร่วม ได้แก่ มองโกเลีย, มาเลเซีย, อินเดีย, เนปาล, นิวซีแลนด์, สวีเดน, ซิมบับเว, บราซิล, ตุรกี, เดนมาร์ก, ฟิลิปปินส์, อาร์เจนตินา เป็นต้น


โดยในช่วงเช้าของการประชุม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางเข้าอาคารรัฐสภา ซึ่งกำหนดการวานนี้ ไม่ได้มีการแจ้งหมายสื่อมวลชนแต่อย่างใด


นายพิธา ได้เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำในการประชุม  โดยในช่วงหนึ่งของปาฐกถา นายพิธา ระบุว่า ชัยชนะของพรรคก้าวไกล คือข้อพิสูจน์ว่าพรรคการเมืองแนวสังคมประชาธิปไตย และความคิดที่ก้าวหน้าเป็นธรรม ก็สามารถชนะการเลือกตั้งได้


พรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนถึง 40% ทำการเมืองแบบที่ไม่ต้องใช้ทุนมหาศาลหรือกลุ่มทุนมาหนุนหลังล็อบบี้  โดยที่ไม่เสียความเป็นตัวตน ทุกคุณค่าและนโยบายที่เรานำเสนอต่อประชาชน คือแนวคิดสังคมประชาธิปไตย คือความคิดที่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องเป็นแบบ บนลงล่าง หรือ ขวาจัด และการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความเท่าเทียมเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้


นายพิธา กล่าวต่อไป ว่าอย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือพื้นที่ประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังหดแคบลง  แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่ตนเพิ่งเดินทางกลับมา  ตนได้เจอหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ Tyranny of the Minority ที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ความถดถอยของประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา ว่าคนส่วนน้อยรวมตัวกันเอาชนะเสียงส่วนมากได้ด้วยวิธีการใดบ้าง


นั่นทำให้ตนนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีกติกาที่ฉ้อฉล ใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือทางการเมือง เสียงส่วนน้อยอย่าง สว. ที่เพียงไม่เข้าประชุมไม่กี่คน ก็สามารถล้มแคนดิเดตที่มาจากการเลือกตั้งได้ การปกครองด้วยกฎหมายแต่ไม่มีนิติรัฐ ดูแต่ตัวบทแต่ไม่ดูเจตนารมณ์ เหมือนกับการที่ตนต้องถูกให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่


นายพิธา กล่าวต่อไปว่า คำถามคือเราจะสู้กับคนส่วนน้อยและการสถาปนาสถาบันของคนส่วนน้อยขึ้นมาแบบนี้ได้อย่างไร สำหรับตนแล้วคำตอบคือเราจะต้องชนะมากกว่านี้ ทั้งในการเลือกตั้งและในทางความคิด นี่คือเหตุผลที่เรามารวมตัวกันที่นี่ พวกเราทุกคนต้องการชนะมากกว่านี้ และนั่นคือเป้าหมายในอนาคตพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกัน ที่จะต้องชนะได้มากกว่า 251 เสียง เพื่อไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีแนวคิดสังคมประชาธิปไตยเป็นแนวความคิดหลักในประเทศไทยให้ได้ในที่สุด


“เราต้องชนะทางความคิด เศรษฐกิจจากเบื้องล่าง การเติบโตแบบมีส่วนร่วม ขจัดการผูกขาด ทลายการรวมศูนย์อำนาจ นี่คือความคิดนำใหม่ที่เรากำลังสู้ให้ชนะ ในวันข้างหน้าชัยชนะของทุกคนก็คือชัยชนะของเราด้วย เราจะชนะไปด้วยกัน สร้างสังคมที่เป็นธรรมและก้าวหน้าไปด้วยกัน” นายพิธากล่าว



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/vjVUwfeyhBk

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ