อาชญากรรม

ไซเบอร์รวบแก๊งตุ๋นเด็ก ม.4 ดูโฆษณาในโซเชียล ก่อนชวนลงทุนทิพย์ พบเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท

โดย nicharee_m

11 พ.ย. 2566

296 views

ตำรวจไซเบอร์รวบ 17 ผู้ต้องหา หลอกเด็กหญิง ม.4 อายุ 16 ปี ให้ทำภารกิจดูโฆษณาในโซเชียล ก่อนชักชวนลงทุน สูญเงินกว่า 3 แสนบาท

วานนี้ (10 พ.ย.66) เวลา 15.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 นำแถลงข่าวปฏิบัติการ OPERATION : JOB SCAM “รุกฆาตแก๊งหลอกทำภารกิจ” รวบ 17 ผู้ต้องหาง พร้อมยึดทรัพย์เกือบ 5 ล้านบาท

โดยพฤติการณ์ของมิจฉาชีพในขบวนการนี้ ใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหายให้โอนเงินทำภารกิจโดยโฆษณาบนแพลตฟอร์มโซเชียล หรือ ทักแชทหาผู้เสียหายเพื่อเสนอให้ทำงานที่ง่ายแต่รายได้ดี เช่น การดูวิดีโอบน YouTube เพิ่มยอดวิว / การกดรีวิวสินค้า การออเดอร์สินค้าเพื่อเพิ่มยอดขายให้แก่แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง หรือวิธีการอื่นๆ แตกต่างกันไป

หากมีเหยื่อหลงเชื่อมิจฉาชีพจะให้เหยื่อโอนเงินเพื่อรอรับผลตอบแทน ซึ่งในครั้งแรกจะให้ลงทุนในจำนวนน้อยแล้วได้ผลตอบแทนกลับมาจริง ทำให้เหยื่อหลงเชื่อว่าทำแล้วได้เงินจริง

จากนั้นมิจฉาชีพจะหลอกล่อให้ผู้เสียหายค่อยๆ โอนเงินในจำนวนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หากผู้เสียหายต้องการถอนเงินคืน มิจฉาชีพจะอ้างเหตุผลให้โอนเงิน หรือให้โอนเงินค่าภาษี ค่าธรรมเนียม หรือค่าอื่นๆ แล้วแต่จะกล่าวอ้าง ถึงจะถอนเงินคืนได้ และต้องทำไปเช่นนี้เรื่อยๆ จนกว่าเหยื่อจะรู้ตัวว่าโดนหลอกลวงจนสุดท้าย เหยื่อก็ไม่สามารถถอนเงินทั้งหมดคืนได้

สำหรับปฏิบัติการดังกล่าวก็เริ่มต้นจากเคสของเด็กหญิงอายุ 16 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ม.4 โดยช่วงปลายเดือนธันวาคม 2565 ไปเจออินสตาแกรมชื่อ g rayhuman โพสต์ประกาศรับสมัครงาน ดูวิดีโอในเว็บไซต์ YouTube โดยอ้างว่าเพื่อเพิ่มยอดคนเข้าชม และรับประกันรายได้จริง จึงได้เพิ่มเพื่อนในแอปพลิเคชันไลน์ และติดต่อผ่าน ‘แอดมินโกปาย’

จากนั้นเหยื่อจึงได้แชทพูดคุยกัน โดยแอดมินหลอกให้เหยื่อโอนเงินลงทุน เริ่มจากหลักร้อย ให้ทำภารกิจดูโฆษณา แล้วจะได้เงิน แรกๆ ก็จะได้เงินคืน แต่พอเริ่มโอนมากขึ้นๆ หลังๆ มาก็จะมีเงื่อนไขที่ทำให้ถอนเงินออกมาไม่ได้

สุดท้ายผู้เสียหายได้โอนไปเข้าบัญชีม้า 3 บัญชี รวม 16 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 65 ถึง มกราคม 66 แต่เคราะห์ดีที่กรณีนี้ เด็กได้ปรึกษาญาติ และตั้งใจทำภารกิจครั้งสุดท้าย ด้วยการโอนเงินไป 120,000 บาท เพื่อให้ถอนเงินออกมาให้ได้ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถถอนได้ ทำให้สูญเงินรวมทั้งสิ้น 302,500 บาท

จากนั้นตำรวจ บก.สอท.3 จึงสืบสวนขยายผลวิเคราะห์เส้นทางการเงินทุกเส้นทางของกลุ่มคนร้ายทั้ง 8 แถว พบว่ามียอดเงินหมุนเวียนในขบวนการนี้ในรอบหกเดือนสูงกว่า 230 ล้านบาท จึงขอศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวการ และบัญชีม้า 38 ราย มีทั้งชาวไทย และชาวกัมพูชา ที่เชื่อว่า ทำธุรกิจร้านแลกเงินอยู่ในคาสิโน ประเทศเพื่อนบ้าน และเข้าค้นเป้าหมาย 4 จุด ใน 3 จังหวัด คือ ปทุมธานี , นนทบุรี และสระแก้ว จนมาสู่ปฎิบัติการครั้งนี้

สามารถจับผู้ต้องหาได้ 17 ราย หนึ่งในนี้เป็นผู้บริหารการเงิน แต่ว่ายังไม่สามารถจับกุมตัวแอดมินได้ ซึ่งเชื่อว่าตัวแอดมินอยู่เพื่อนบ้านอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับปฎิบัติการครั้งนี้ตำรวจไซเบอร์สามารถยึดของกลางได้ ประกอบด้วย เงินสด 3 ล้านบาท ทองรูปพรรณ หนัก 13 บาท และอายัดเงินในบัญชีได้อีกกว่า 2 ล้านบาท รวมทั้งสินกว่า 5 ล้านบาท จึงดำเนินคดีในข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และร่วมกันฟอกเงิน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขบวนการนี้จะตั้งบริษัทบังหน้า โดยทำธุรกิจแก๊สบังหน้า มีเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท แต่พอไปตรวจสอบที่อยู่ตามหลักฐานการจดทะเบียนบริษัทก็พบว่า เป็นบ้าน ทาวน์เฮ้าส์เก่าๆ ที่จังหวัดสระแก้ว และปล่อยให้เช่า

จากการตรวจสอบ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 31 ตุลาคม 2566 คดีที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน หรือทำภารกิจ มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากโดยหลอกขายของ โดยมียอดผู้เสียหาย จำนวน 46,488 ราย รวมมูลค่ากว่า 5,700 ล้านบาท และในจำนวนนี้มีเยาวชนตกเป็นเหยื่อ 1,700 ราย มีมูลค่าความเสียหายกว่า 14 ล้านบาท

ส่วนผู้ต้องหาที่จับกุมได้ทั้ง 17 รายจะนำตัวไปฝากขังต่อศาลในวันนี้ (11 พ.ย.66)  ส่วนผู้ต้องหารายอื่นจะเร่งขยายผลและติดตามจับกุม รวมถึงชาวกัมพูชา และชาวไทยที่อยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน  ขณะที่ทรัพย์สินที่ยึดมาได้ จะมีการนำไปเฉลี่ยทรัพย์ให้กับผู้เสียหายต่อไป



https://youtu.be/Z3BzsncG-dA



คุณอาจสนใจ

Related News