เลือกตั้งและการเมือง
"สุทิน" ตรวจเยี่ยม "กองทัพไทย" บอกสบายใจทหารพร้อมสนองนโยบายรัฐบาล
โดย paranee_s
11 ต.ค. 2566
171 views
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ ตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพไทย อย่างเป็นทางการ หลังจากรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมี พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้การต้อนรับ ณ กองบัญชาการกองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ
เพื่อรับทราบภารกิจ การจัด การดำเนินงานที่สำคัญของกองบัญชาการกองทัพไทย โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากนั้นได้ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศผสมสามเหล่าทัพ และรับฟังการบรรยายสรุปภารกิจของกองบัญชาการกองทัพไทย รับชมวีดิทัศน์การสาธิตระบบควบคุมบังคับบัญชา พร้อมมอบนโยบายในการปฏิบัติงานให้แก่กองบัญชาการกองทัพไทย
จากนั้นนายสุทิน แถลงข่าวว่า การมาตรวจเยี่ยมครั้งนี้รู้สึกอบอุ่น ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และสัมผัสได้ถึงความพร้อมและความเข้มแข็งของกองทัพไทย ทางด้านศักยภาพที่จะทำให้เราเชื่อมั่นว่า กองทัพไทยซึ่งเป็นองค์กรที่ประสานงานกับทุกเหล่าทัพ จะสามารถปกป้องอธิปไตย ราชบัลลังก์ เป็นที่พึ่งของประชาชน สนับสนุน กิจกรรมของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนได้ทราบว่า ทางกองทัพไทยและเหล่าทัพ ได้ขับเคลื่อนนโยบาย ที่ทางรัฐบาลได้มอบให้อย่างน่าภูมิใจ ทั้งการเปลี่ยนระบบตรวจเลือก ทหารเกณฑ์ การปรับลดกำลังพล การนำที่ดินของทหารมาใช้ ซึ่งมีการดำเนินการไปไกลมากแล้ว ตนก็รู้สึกสบายใจ และมีความเชื่อมั่นในกองทัพ
อย่างไรก็ตามตนก็ได้เน้นย้ำในนโยบาย 8 ข้อที่ให้ไว้ในตอนที่ประชุมสภากลาโหม แต่เรื่องเร่งด่วนสำคัญคือการช่วยเหลือประชาชน ในภัยพิบัติต่างๆ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือ ประสบภัยพิบัติในต่างประเทศอย่างที่เป็นอยู่ ก็เน้นย้ำให้กองทัพ ได้เตรียมพร้อมและทุ่มเท ให้ถึงที่สุด พร้อมเน้นย้ำไว้เรื่องการปราบปรามการทุจริตหรือทำให้องค์กรเป็นองค์กรที่โปร่งใสก็ได้
อย่างไรก็ตามในเรื่องของการรับมือภัยสงครามที่เป็นความขัดแย้งคนในต่างประเทศนั้นกองทัพมีความชำนาญและประสบการณ์ไม่ว่าจะเกิดในประเทศไทยหรือต่างประเทศ
ส่วนการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 นั้น ก็ยึดฐานเดิมที่เคยทำมาและมาพิจารณา ในภาวะในปี2567 ในเวลาที่เหลือสั้น ๆ จะสามารถทำอะไรได้หรือไม่ สิ่งใดที่ไม่สำเร็จก็ปรับรอเสนอในปี 2568 ส่วนที่กองทัพจะจัดซื้ออาวุธก็ให้ซื้อเท่าที่จำเป็น เน้นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่าโปร่งใสและตรวจสอบได้
"อย่างไรก็ตามตนจะทำหน้าที่ ในการดูแลจัดสรรงบประมาณของกองทัพอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้ถูกตัดเพิ่มเติม เพราะปัจจุบันตัดแล้วตัดอยู่ และได้ตัดไปเยอะแล้ว แต่ก็ต้องฟังเหตุและผล ในรัฐสภาดูประชาชน อย่างที่บอก จัดและซื้อเท่าที่จำเป็น และมาพิจารณาร่วมกัน อันไหนที่จำเป็นจนตนก็จะช่วยชี้แจงเต็มที่ในสภา ให้เขาเข้าใจ เพราะบางเรื่องทางสภาก็ยังไม่เข้าใจกองทัพรวมถึงสังคม ผมเข้ามาแล้วก็มีความเข้าใจมากกว่าก็จะมาช่วยอธิบาย" นายสุทิน กล่าวและว่า
ส่วนความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทย จากการสู้รบในอิสราเอลว่า การอพยพคนไทยออกมาเราจะต้องได้รับการอนุญาตจากอิสราเอล ถึงจะสามารถบินไปรับได้แต่ขณะนี้ทางอิสราเอลกับกระทรวงต่างประเทศได้มีการพูดคุยกันและอนุญาตในระดับหนึ่ง โดยในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ ก็จะมีคนไทยกลับมาล็อตแรก 15 คน จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องบินพาณิชย์มาตามปกติ โดยกระทรวงต่างประเทศดำเนินการในส่วนของกองทัพก็ช่วยเหลือดูแล
แต่ในรอบต่อไปวันที่ 15 ตุลาคมนี้กองทัพอากาศก็จะบินไปรับ ซึ่งการบินไปต้องมีการประสานกลับประเทศต่าง ๆ รวมถึงอิสราเอล ซึ่งเขาก็ดูแลเต็มที่ เดิมที ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว. พาณิชย์และตนจะเดินทางไปด้วย แต่มาวิเคราะห์ในหลายด้าน ควรต้องชะลอไว้ก่อน เพราะไปเป็นภาระ และเกรงว่า จะไปเป็นภาระของผู้โดยสารไปแย่งที่เขา ก็เลยทำได้แค่ไปส่งและไปรับ
" กองทัพอากาศคงต้องบินไปรับหลายรอบ ซึ่งวิเคราะห์กันแล้วในระดับรัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องผสมผสาน กับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เพราะว่าทางกองทัพอากาศแม้จะทำเต็มที่ แต่ก็ยังล่าช้าไม่ทัน เพราะปัจจุบันคนแสดงความจำนงที่จะกลับ 3,000 กว่าคน"
เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นสส.ภาคอีสานและมีแรงงานจากภาคอีสานเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันเราก็ถูกฝ่ายการโจมตีว่าการช่วยเหลือล่าช้า นายสุทิน กล่าวว่า ยอมรับว่าเป็นแรงงานจากภาคอีสานจำนวนมาก และเราก็กังวลใจ เห็นใจและสงสาร ซึ่งการที่จะไปช่วยช้าหรือเร็วไม่ใช่ฝ่ายเราตัดสินใจเพียงผู้เดียว อยากให้เข้าใจว่า เราเตรียมพร้อมเครื่องบินมาหลายวันแล้ว รัฐมนตรีหลายคนพร้อมที่จะไปด้วย แต่ก็ไปไม่ได้ ต้องเห็นใจทางการอิสราเอลเพราะเขาอยู่ในสถานการณ์สงคราม เราไปอาจจะไป สร้างความยุ่งยากทางยุทธการของเขา ซึ่งเราก็เข้าใจ ยืนยันว่าไม่ช้า เพราะเขาเปิด เราก็ไปทันที ในขณะเดียวกันทางผู้ช่วยทูตทหาร ก็ช่วยเคลื่อนย้าย คนไทยที่อิสราเอลไปในจุดที่ปลอดภัย
นายสุทิน ยังแสดงความห่วงใยต่อแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันว่าได้มีการประสานตลอด และได้รับการยืนยันว่าทุกคนอย่างปลอดภัย แต่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของอิสราเอลที่จะดำเนินการให้ ในส่วนของเราเองก็พยายามทำทุกทางอาศัยทุกช่องทาง ในการช่วยคนของเราให้เต็มที่
ในเรื่องของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 20 ตุลาคม นายสุทิน กล่าวว่า ยอมรับว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีความเห็นแตกต่างกันหลากหลายทั้งในส่วนประชาชนที่เป็นมุสลิมก็ต้องการให้ยกเลิก แต่คนไทยพุทธก็ต้องการให้คงเอาไว้
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ต้องการใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน ส่วนผู้ตัดสินใจก็จะเป็นรัฐบาล เพราะทางกระทรวงกลาโหมเป็นฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งตามความเห็นของฝ่ายปฏิบัติ รัฐบาลตัดสินอย่างไร ก็พร้อมปฏิบัติตามนั้น
"แต่ทางฝ่ายปฏิบัติเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องคงไว้ ซึ่งขณะนี้ข้อมูลที่กองทัพภาคที่ 4 ได้ทำข้อดีข้อเสียของการมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ได้มาถึงมือของผมแล้ว ซึ่งมีการฟังประชาชนหลายฝ่ายและวิเคราะห์สถานการณ์ ของผู้ปฏิบัติงานแล้ว ยังอยากให้คงไว้"
เมื่อถามว่าในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเช่นพรรคประชาชาติจะเข้าใจใช่หรือไม่ว่าอาจจะต้องคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไว้ นายสุทินกล่าวว่า คิดว่าคุยกันเข้าใจได้ ไปบ่ายวันนี้จะประชุมกับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.)
ส่วนจะนำเข้าครม. ในวันอังคารหน้านี้หรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ และจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือนหรือ 3 เดือนเดี๋ยวขอคุยกันในที่ประชุม กบฉ.ก่อน รวมถึงหากต้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะแก้ไขพ.ร.บ.ความมั่นคง 2551 อย่างไรเพื่อให้เป็นเครื่องมือ ให้เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงาน
แท็กที่เกี่ยวข้อง