สังคม

นายกฯ เปิดประชุม TCAC 2023 แก้ปัญหาโลกรวน ผลักดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

โดย nut_p

6 ต.ค. 2566

799 views

ไทยเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ เวทีโลกร้อนของไทย ครั้งที่ 2 เพื่อย้ำจุดยืนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนร่วมประกาศแนวทางการดำเนินภารกิจนับจากนี้



นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นปาฐกถาพิเศษ ในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ เวทีโลกร้อนของไทย ครั้งที่ 2 โดย แสดงวิสัยทัศน์ต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกรวนตามแนวทางที่มั่นคงสำหรับการเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบบังคับ ซึ่งจะนำไปสู่รากฐานการเปลี่ยนผ่านอย่างมั่นคง



ตอนนี้ภาครัฐของไทยมีแผนในช่วง 7 ปีต่อจากนี้ เพื่อวางแนวทางการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำจนถึงปี 2030 และอนาคต ผ่านแนวทางของ 6 หน่วยงาน คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่ง เลขาธิการสำนักงาน นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ระบุว่า จุดเริ่มต้นของประเทศไทยจากนี้ต้องเริ่มที่การสร้างข้อบังคับทางกฎหมายใหม่ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดสรรสิทธิการปล่อยคาร์บอนด์ การกำหนดภาษีสินค้า



ขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน พบว่ามีมากที่สุดถึงกว่า ร้อยละ 69 ทำให้กระทรวงพลังงานได้วางมาตรการด้านพลังงานตั้งแต่ปี 2021



พัฒนาพลังงานทดแทนมาผลิตไฟฟ้าและความร้อนจากประเภทพลังานธรรมชาติ และ ชีวภาพ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานทำให้ลดประมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาถึงกว่า 49.5 ล้านตันต่อปี และหากทำต่อเนื่องจนถึงปี 2030 ก็จะได้มากถึง 123.6 ล้านตันต่อปี



ด้านภาคเอกชนก็ขานรับนโยบายของประเทศในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านมุมมองของ 3 ธุรกิจด้านพลังงาน และ วัสดุ ซึ่งทั้งหมดมองไปในทิศทางเดียวกันในความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดย หากประเมินปริมาณการดักจับคาร์บอน สู่การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ cabon neutral ทั่วโลกต้องทำให้ได้รวมกัน 4 พันล้านตันต่อปี เฉลี่ยประเทศไทยต้องทำให้ 40 ล้านตันต่อปี แต่ตอนนี้อยู่ที่ 3 ล้านตันต่อปี ทาง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) ได้จึงทดลองนำร่องการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเก็บไว้ใต้ท้องทะเล ซึ่งคาดว่าจะทำได้มากถึง 1 ล้านตันต่อปี



ขณะที่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ปรับวิสัยทัศน์ให้สอดรับกับ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของไทย ไปพร้อมกับกิจกรรมฟื้นฟูผืนป่าขององค์กรที่เริ่มตั้งแต่ปี 2537 จนถึงตอนนี้กว่า 1 ล้านไร่ สร้างคาร์บอนเครดิตได้ถึง 32 ล้านตันต่อปี



ส่วน บริษัทปูนซีเมนไทย จำกัด มหาชนหรือ SCG ก็เริ่มการลดการปล่อยคาร์บอนตั้งแต่ต้นทาง เริ่มที่การเลือกใช้พลังงานสะอาดในการผลิต การผลิตวัสดุและอุปกรณ์ ซึ่งเป็นสินค้าคาร์บอนต่ำ ลดโลกร้อนด้วยวิธีการธรรมชาติ



ขณะที่ภาคประชาสังคมอย่างกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ใช้โอกาสผ่านเวทีนี้ ส่งข้อความถึงภาครัฐ ถึงการหยุดใช้ป่าแลกคาร์บอน เพราะการนำผืนป่ามาชดเชยคาร์บอนไม่ใช่ทางออกของวิกฤต แต่เป็นการเปิดให้เอกชนเข้ายึดผืนป่าจากชุมชน



จึงอยากให้ประเทศไทยได้ทบทวนกรอบท่าทีก่อนเข้าสู่การเจรจาในการประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมนี้ เพราะผลจากการประชุม TCAC2023 ที่ประเทศไทยจะถูกนำไปรายงานในที่ประชุม COP 28 มีแนวโน้มที่จะผลักดันประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน หรือ Energy transition และการยกระดับเศรษฐกิจไปสู่การค้าการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ



คุณอาจสนใจ

Related News