สังคม

ปภ.เตือน 11 จว. เฝ้าระวังระดับน้ำเจ้าพระยา - อุตุฯคาดพายุโคอินุมาไม่ถึงไทย

โดย passamon_a

2 ต.ค. 2566

140 views

เมื่อวันที่ 1 ต.ค.66 เวลา 14.00 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทาน ว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมบริเวณภาคเหนือ ส่งผลให้น้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้น และมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำปริมาณมาก และในช่วงวันที่ 3-6 ตุลาคม 2566 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้


โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำที่สถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 1,300-1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาประมาณ 50-150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณระหว่าง 1,350-1,750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 1,000-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 1.00-1.50 เมตร อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป


จึงได้ประสาน 10 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ


พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง


ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยภาพถ่ายดาวเทียม วันที่ 1 ต.ค. ว่า ยังมีเมฆฝนปกคลุมทางด้านตะวันตกของประเทศไทย ส่วนพายุโซนร้อน โคอินุ (KOINU) ศูนย์กลางอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ มุ่งสู่ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน


ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังคงติดตามเป็นระยะ ๆ เนื่องจากพายุนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลง เบื้องต้นคาดว่าพายุมาไม่ถึงประเทศไทย เนื่องจากมีมวลอากาศเย็นแผ่ซึมลงมาปกคลุมด้านหน้าของพายุ คาดว่าจะมุ่งสู่ทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน และเกาะฮ่องกง


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/THjp3Z8rClw

คุณอาจสนใจ

Related News