เลือกตั้งและการเมือง

ศาลยกฟ้อง "ชูวิทย์" หมิ่นประมาท "ภูมิใจไทย" ผิด พรป.เลือกตั้ง หลังโจมตีนโยบายกัญชา ทำคะแนนเสียงลด

โดย paranee_s

29 ก.ย. 2566

421 views

จากกรณีพรรคภูมิใจไทย ยื่นศาลเอาผิด นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ฐานความผิดหมิ่นประมาท และผิด พรป.เลือกตั้ง หลังปราศรัยใส่ร้าย พฤติกรรมส่อซื้อเสียงไม่ให้เลือกพรรคภูมิใจไทย


ล่าสุด ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งพิพากษายกฟ้อง ทั้งความผิดฐานหมิ่นประมาท และผิด พรป.เลือกตั้ง โดยศาลเห็นว่าจำเลยมีเสรีภาพในการพูดและการแสดงความคิดเห็น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 และเนื้อหาถ้อยคำที่จำเลยกล่าวเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ตามเมืองใหญ่หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ย่านสุขุมวิท ถนนข้าวสาร เมืองพัทยาและภูเก็ต มีร้านจำหน่ายกัญชาเปิดให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีข่าวปรากฏเป็นที่ทราบอยู่บ่อยครั้งว่ามีเยาวชนเสพหรือติดกัญชา


ดังนั้น แม้ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจะเป็นการโจมตีนโยบายที่โจทก์ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งก่อนก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้ใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จเพราะจำเลยกล่าวความจริง และเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ทั้งเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ ที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์อธิบายว่าโจทก์มีนโยบายให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์นั้น


จึงเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าการใช้กัญชาได้อย่างเสรีหมายความรวมถึงการใช้เพื่อสันทนาการด้วย จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายกัญชาเสรีทำให้เกิดผลดังที่จำเลยกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท


ส่วนกรณีที่จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ.2561 หรือไม่ ซึ่งตามมาตรา 73 (5) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ (5) หลอกลวงบังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง"


ในข้อนี้ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความอธิบายว่า จำเลยกล่าวถ้อยคำอันมีลักษณะเป็นการชักชวนผู้คนซึ่งมีสิทธิเลือกตั้ง ใช้อิทธิพลคุกคาม เนื่องจากจำเลยเป็นผู้มีอิทธิพลทางด้านความคิดที่สามารถชี้นำสังคมได้ (Influencer) ใส่ร้ายด้วยความเท็จหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของนายอนุทินและผู้สมัครในสังกัดของโจทก์ รวมถึงโจทก์นั้น


ศาลเห็นว่า แม้จำเลยเป็นผู้ชี้นำทางความคิดให้แก่กลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้ก็ตาม แต่ตามเนื้อหาถ้อยคำตามคำฟ้อง ประกอบกับความหมายของคำว่า "คุกคาม" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๔ หมายถึง "แสดงอำนาจด้วยกิริยาหรือวาจาให้หวาดกลัว หรือทำให้หวาดกลัว" ตามข้อเท็จจริงและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยแสดงอำนาจให้ประชาชนหวาดกลัว ทั้งไม่ปรากฏว่าประชาชนที่ไปฟังคำปราศรัยดังกล่าวเกิดความหวาดกลัวจำเลย จนต้องลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ หรืองดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครของโจทก์


การกระทำของจำเลยจึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า "ใช้อิทธิพลคุกคาม" และ "บังคับ ขู่เข็ญ" อีกทั้งไม่ถือว่าเป็นพฤติการณ์หลอกลวง หรือใส่ร้ายด้วยความเท็จ เนื่องจากศาลวินิจฉัยในตอนต้นแล้วว่าจำเลยกล่าวความจริง ส่วนการกระทำที่เป็นการจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานโจทก์ที่ชัดเจน จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 (5)


ส่วนข้อหาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 384 หรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อจำเลยกล่าวความจริงในคำปราศรัย จึงไม่อาจถือว่าจำเลยแกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือในหมู่ประชาชน ทั้งไม่ปรากฏว่าประชาชนเกิดความตื่นตกใจประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 384 เช่นเดียวกัน ดังนี้ คดีของโจทก์ไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง


ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตึงมีคำพิพากษายกฟ้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ