สรุปข่าว

เรื่องเล่าหน้าหนึ่ง 22 ก.ย.66 แบ่งโควตากมธ.สภา-เปิดคำสารภาพไอ้เอ็ม-จับนายกเล็กบางแก้วรับเงินใต้โต๊ะ

โดย thichaphat_d

22 ก.ย. 2566

60 views

1.เปิดคำสารภาพ ไอ้เอ็ม พ่อโหดฆ่าลูก

2.กัน จอมพลัง แฉผัวเมียเคยนำลูกโพสต์ขอรับบริจาค

3.ซ้อนแผนจับ นายกเล็กบางแก้ว เซ่นเงินใต้โต๊ะ

4.ตร.ปูพรมไล่ล่าคนร้าย บุกฟัน 2 พ่อลูกชิงทองคำ

5.บอร์ด รฟท.ไฟเขียว สายสีแดง ไม่เกิน 20 บาท

6.หนิง ปณิตา เคลื่อนไหว หลังสามี รับทำชีวิตคู่พัง


เรื่องเล่าการเมือง

-เศรษฐา เผยเตรียมขอความเห็นจากทักษิณหลังพ้นโทษ


-เป็นประเด็นที่สร้างความฮือฮาขึ้นมาทันที หลังจากนายกฯเศรษฐา ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่าหลังจากอดีตนายกฯทักษิณพ้นโทษ เขาจะไปขอความคิดเห็น ซึ่งเชื่อว่าจะมีค่ากับรัฐบาลและประชาชนชาวไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐ ระหว่างการเยือนนครนิวยอร์ก เพื่อร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นการให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติครั้งแรกหลังการมาเป็นนายกฯ ประเด็นส่วนใหญ่เป็นเกี่ยวกับเรื่องความพยายามในการฟื้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

แต่ช่วงหนึ่งที่เป็นประเด็นให้พูดถึงอย่างมาก คือ นายกฯเศรษฐา ได้พูดถึง อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างการรับโทษด้วย โดยบอกว่า เชื่อว่าคุณทักษิณมีคุณค่าต่อรัฐบาลและประชาชนชาวไทย คุณทักษิณยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย”

"หากเขาได้เป็นอิสระ แล้วผมไม่ขอความเห็นจากเขา และนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆ ด้วย ผมก็คงจะไม่ฉลาด”

ทั้งนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้โพสต์ข่าวนี้ในทวิตเตอร์ (หรือ X) โดยขึ้นประเด็นว่า อดีตนายกฯทักษิณ จะมีบทบาทในรัฐบาลไทยหลังจากพ้นโทษ

นอกจากนี้ อีกช่วงหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงนโยบายกัญชาของรัฐบาลชุดนี้ ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายให้ได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อควบคุมให้การใช้กัญชาอยู่แต่เฉพาะเรื่องทางการแพทย์ และจะไม่มีการนำกัญชามาใช้เพื่อสันทนาการอีก


- รัฐบาล ออกกฎเหล็กคุมให้ข่าวสื่อ ป้องกันความลับ ครม.รั่วไหล

ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ มีเรื่องฮือฮา เมื่ออยู่ๆก็มีหนังสือเวียนฉบับหนึ่งออกมา แจ้งมติ ครม.กำหนด แนวทางรักษาความลับทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ครม. และการให้ข่าวแก่สื่อมวลชน เมื่อ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา

ที่เป็นที่ฮือฮา เพราะมติ ครม.ดังกล่าว ถูกมองว่าเป็นการออกกฎเหล็กควบคุมการให้ข่าวที่เกี่ยวกับรัฐบาล ต่อสื่อมวลชน

โดยเนื้อหาของหนังสือมี 2 หน้า ลงนามโดยเลขาธิการ ครม. มีการกำหนดให้รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมการประชุม ครม. ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในการรักษาความลับทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ครม. ตามลำดับชั้นความลับ

การพิจารณาหารือหรืออภิปรายของคณะรัฐมนตรีในที่ประชุม ให้ ถือเป็นความลับของทางราชการ ดังนั้น รัฐมนตรี และผู้เข้าร่วมการประชุม ต้องระมัดระวัง

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ส่วนราชการระมัดระวังมิให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเปิดเผยเอกสารก่อนการประชุม ครม. โดยหากรั่วไหล จนเกิดความเสียหายต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย และลงโทษทางวินัยสูงสุดถึงขั้นไล่ออก

โดยให้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีหน้าที่ให้ข่าวสารเกี่ยวกับการประชุม ครม. และชี้แจงข่าวต่อสาธารณชน เรื่องนี้หลังเผยแพร่ออกไป ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงมติ ครม. ดังกล่าวว่า เรื่องนี้มีการกระทำต่อเนื่องกันมากว่า 20 ปีแล้ว และเป็นปกติ ในการแจ้งผู้เข้าร่วมประชุม ครม. ถึงแนวทางปฏิบัติ เพราะเรื่องนี่ อยู่ระหว่างพิจารณา บางเรื่องมีความอ่อนไหว มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่หากเรื่องที่เป็นมติที่เห็นชอบหรืออนุมัติแล้ว ก็สามารถเผยแพร่สื่อสารได้ตามเหมาะสม


-โรม ถามรัฐบาลกลัวอะไร? ออกกฎเหล็ก คุมความลับ ครม.

และสืบเนื่องจากมติ ครม. ดังกล่าว มีความเห็นจาก โฆษกพรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม ถึงกับร้องเอ๊ะ ถามรัฐบาลกลัวอะไรหรือเปล่า

นายรังสิมันต์ โรม ตั้งข้อสงสัยว่า รัฐบาลกลัวว่ามีการทุจริต หรือไม่ หรือกลัวการบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง หรือกลัวว่าบริหารงานแล้วจะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ

สิ่งที่ออกมา เหมือนพยายามเขียนเสือให้วัวกลัว พยายามออกกฎเกณฑ์ที่ทำให้ข้าราชการเกิดความเกรงกลัว และไม่กล้าเอาข้อมูลมาบอกฝ่ายค้านหรือไม่ ทำให้ตนรู้สึกเป็นห่วงการบริหารงานของรัฐบาลในครั้งนี้

นายรังสิมันต์ โรม ยังบอกอีกว่า เท่าที่สัมผัสกับข้าราชการน้ำดี ต่างมีความหวังดีต่อประเทศชาติ จึงเชื่อว่าเรื่องนี้คงปิดปากข้าราชการน้ำดีไม่ได้



-เคาะแล้ว! โควตา 35 ประธานกมธ.สภา - ก้าวไกลได้ 11 คณะ

สภาเมื่อวานนี้ มีการประชุมแบ่งโควตา ประธานคณะกรรมาธิการของสภา ทั้งหมด 35 คณะ หลังใช้เวลา 2 ชั่วโมง ก็ตกลงกันได้ โดยไม่ต้องจับสลาก

เมื่อวานช่วงบ่าย มีการประชุมร่วมกันของตัวแทนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อพิจารณาการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม หลังจากการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่สามารถตกลงกันได้

ซึ่งนายพิเชษฐ์ ได้มีการเตรียมอุปกรณ์จับสลากไว้ให้ ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ เป็นกล่องสี่เหลี่ยมใส 2 กล่อง บรรจุไข่สีทองและสีน้ำเงิน

แม้บรรยากาศการพูดคุย ต้องพักการประชุม เพื่อให้ไปตกลงสัดส่วน และโควตากรรมาธิการบางคณะกันให้เรียบร้อย ก่อนกลับมาประชุมอีกครั้ง

ภายหลังใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง นายพิเชษฐ์ ระบุว่า ที่ประชุมจบลงด้วยดี ทุกพรรคถอยคนละก้าว โดยวันที่ 27 กันยายนนี้ ทุกพรรคจะเสนอ รายชื่อเข้าทั้ง 35 คณะ และวันที่ 28 กันยายน จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการนัดแรก เพื่อเลือกประธานกรรมาธิการ และตำแหน่งอื่นๆ

สำหรับ 35 ประธานกรรมาธิการ ที่จัดสรรโควตากันแล้ว พรรคก้าวไกล ได้มากที่สุด 11 คณะ อาทิ กรรมาธิการ ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ // กรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน // กรรมาธิการการทหาร // กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ

รองลงมา คือ พรรคเพื่อไทย ได้ประธานกรรมาธิการ 10 คณะ อาทิ กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือ (กมธ.ป.ป.ช.) // กรรมาธิการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด รวมถึง กรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ได้ประธานกรรมาธิการ 5 คณะ อาทิ กรรมาธิการการศึกษา // กรรมาธิการแรงงาน และกรรมาธิการ การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ

ที่เหลือแบ่งไปตามสัดส่วน โดย พรรคพลังประชารัฐ ได้ประธานกรรมาธิการ 3 คณะ

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตำแหน่งประธานพรรคละ 2 คณะ

นอกจากนี้ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาชาติ ได้พรรคละ 1 คณะ


-ก้าวไกล โวยชวด กมธ.ป.ป.ช. เหน็บบิ๊กตู่ ยังใจกว้างกว่า

ต่อเนื่องจากการแบ่งสัดส่วนกรรมาธิการ ในมุมของพรรคก้าวไกล บอกว่าเป็นบรรยากาศที่ไม่ดี หลังรัฐบาล ไม่ยอมถอยตำแหน่งประธานกรรมาธิการป.ป.ช. ซึ่งเป็นกลไกในการตรวจสอบให้ฝ่ายค้าน ก็บอกเทียบกับ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังใจกว้างกว่า

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมเพื่อจัดสรรโควตาคณะกรรมาธิการของสภา ก็ระบุว่า เป็นบรรยากาศที่ไม่ค่อยดี เพราะรัฐบาลไม่ยอมถอย เพื่อให้การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เป็นไปด้วยดี

โดยเฉพาะตำแหน่งประธานกรรมาธิการป.ป.ช. ที่มองว่าควรจะเป็นประเพณีปฏิบัติได้แล้วในระบบรัฐสภา ที่ตำแหน่งนี้ต้องเป็นของฝ่ายค้าน เพราะเมื่อไปอยู่กับรัฐบาล ทำให้สังคม คาดหวังกับการติดตามตรวจสอบได้ยาก

และช่วงนึงบอกว่า น่าเสียดาย ที่รัฐบาลพลเรือนชุดแรก หลังการรัฐประหาร ไม่ปล่อยพื้นที่ตรงนี้ให้ฝ่ายค้าน แต่กลายเป็นว่า ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีความใจกว้างมากกว่า

นายชัยธวัช ก็บอกว่า บรรยากาศการเริ่มต้น สภาชุดนี้ควรจะดีกว่านี้ได้ และ หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะเปิดโอกาสกลไกตรวจสอบให้ฝ่ายค้าน เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็น “พวกมากลากไป” ก็ยอมรับว่าแม้จะลำบาก แต่ยืนยันพร้อมทำงานตรวจสอบให้เต็มที่



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/rXI_LI4n1EA

คุณอาจสนใจ

Related News