สังคม

สำรวจปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ ของชาวหมู่เกาะสาหร่าย จ.สตูล ที่ยังรอการแก้ไข

โดย panwilai_c

12 ก.ย. 2566

60 views

นอกจากที่เกาะตันหยงอุมา จังหวัดสตูล ที่ข่าว 3 มิติ ได้นำเสนอปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ เพื่อการอุปโภคและบริโภคของชาวบ้านแล้ว ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นกับชาวบ้านบนเกาะยะระโตดนุ้ย และยะระโตดใหญ่ ที่อยู่ใกล้เคียงกันอีกด้วย ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาที่พอเป็นไปได้ นั่นก็คือการส่งน้ำประปาจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะ แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงานทำให้ปัญหานี้ไม่ได้รับการการไข



เกาะยะระโตดใหญ่ เป็นเกาะที่อยู่ถัดออกมาจากเกาะตันหยงอุมา เกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของพื้นที่หมู่ที่ 4 และ 5 รวมไปถึงสถานที่ราชการอย่าง อบต. เกาะสาหร่าย ซึ่งก็ประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคและบริโภคไม่ต่างจากเกาะตันหยงอุมา



ชาวบ้านที่นี่ต้องรวมเงินกันซื้อที่สาธารณะมาขุดเป็นบ่อกักเก็บน้ำสำรอง เพื่อแบ่งปันกันใช้ในช่วงฤดูแล้ง

แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว ขณะที่บ่อน้ำอื่นๆ ที่พอมีบนเกาะแห่งนี้ก็จะเต็มไปด้วยชาวบ้าน ที่มารอใช้น้ำ ซึ่งก็ต้องรอจนกว่าจะถึงช่วงที่มีน้ำผุดขึ้นมา



พื้นที่เกาะตันหยงอุมา ยะระโตดนุ้ย และ ยะระโตดใหญ่ เป็น 3 เกาะใหญ่ของหมู่เกาะสาหร่ายที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นเกือบ 5,000 คน ในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านและหน่วยงานท้องถิ่นได้ทดลองแก้ปัญหาแหล่งน้ำมาแล้วหลายวิธี ทั้งการขุดสระ และ บ่อบาดาล แต่เมื่อถึงฤดูแล้ง กลับไม่สามารถใช้ได้จริง เนื่องจากเมื่อน้ำทะเลหนุนสูง น้ำที่มีก็จะกลายเป็นน้ำกร่อยพวกเขาจึงได้หารือร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นถึงความเป็นไปได้ในการนำประปาภูมิภาคเข้าสู่เกาะทั้ง 3 ผ่านเกาะที่อยู่ใกล้แผ่นดินที่สุด คือ พื้นที่หมู่ 1 เกาะตันหยงอุมา



แผนที่จากสำนักงานชลประทานที่ 16 ระบุว่า แหล่งน้ำจากแผนดินใหญ่ 3 แห่ง ที่อยู่ใกล้เกาะแห่งนี้มากที่สุด คือ พื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองช้างในตำบลทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง แต่อ่างเก็บน้ำนี้ยังไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2.แหล่งน้ำต้นทุนจากบ้านบากันโต๊ะทิด ที่คลองละงู ในอ.ละงู ซึ่งจุดนี้มีน้ำตลอดปี ระยะทาง 5.8 กิโลเมตร และ 3.บ้านสาคร เขตอำเภอท่าแพ ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร



ผอ.โครงการชลประทานสตูล สำนักงานชลประทานที่ 16 เปิดเผยว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเสนอการจัดทำโครงการนี้ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จึงทำได้เพียงร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในการแก้ปัญหาไปตามระยะเท่านั้น เช่น การสร้างแหล่งน้ำ และ สนับสนุนอุปกรณ์กักเก็บน้ำ ซึ่งหากผลักดันโครงการผ่านก็อาจต้องรออีกไม่น้อยกว่า 8 ปี ชาวบ้านจึงจะได้ใช้น้ำจากฝั่งได้



อาบีดีน แลหมัน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เขต 9 เมืองสตูล ระบุว่า พื้นที่ของเกาะสาหร่ายมีศักยภาพพอที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ จากแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ เช่น ที่เกาะหอยขาวตรงนี้ ที่เป็นเปลือกหอยทั้งเกาะ ซึ่งมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล แต่ปัญหาด้านระบบสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านไม่สามารถผลักดันวิถีการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มรูปแบบ



อีกไม่นานฤดูฝนก็จะหมดลง และกลับเข้าสู่ฤดูแล้งอีกครั้ง ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำของชาวบ้านเกาะสาหร่ายก็จะเกิดขึ้นวนเวียนแบบนี้ไปทุกปี พวกเขาจึงวอนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาวให้เกิดขึ้นได้ ก่อนที่ฤดูแล้งครั้งต่อไปจะมาถึง

คุณอาจสนใจ