เลือกตั้งและการเมือง

'ชัยธวัช' ซัด ครม.เศรษฐา 1 เหมือน 'เขตทหารห้ามเข้า' ชี้เป็นส่วนต่อขยายระบอบ ‘ประยุทธ์’

โดย panwilai_c

12 ก.ย. 2566

100 views

“ชัยธวัช” ซัด ครม.เศรษฐา 1 เหมือน “เขตทหารห้ามเข้า” เป็นสัญญาณแม้พลเรือนนั่งหัวโต๊ะคุมกลาโหม แต่ยังอยู่ใต้อำนาจกองทัพ มอง “สุทิน-ประยุทธ์” ไม่ต่างกัน ชี้ กองทัพก็มีแผนการปฏิรูปอยู่แล้ว เหน็บดูน่ารัก พอแถลงนโยบาย สิ่งที่หาเสียงไว้หายเกลี้ยง



2 ก.ย. 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย



นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายเปิดเป็นคนแรก ในสัดส่วนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยกล่าวว่า ทำไมนโยบายด้านการเมืองที่สำคัญเรื่องนี้สำคัญเพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าสภาพกาลของบ้านเมืองเราที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่าที่ผ่านมามันดีขึ้น หลายคนอาจจะมีความหวังว่ามีรัฐบาลใหม่แล้ว อะไรๆจะดีขึ้น และที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลพวงของปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ



“เมื่อผมอ่านและฟังคำแถลงนโยบายทางด้านการเมืองของรัฐบาลผมคิดเห็นอย่างไร แน่นอนว่าก็มีปัญหาทั่วไปเหมือนกับนโยบายทางด้านอื่นๆที่รัฐบาลได้แถลงมาแล้ว คือมีความกว้างไม่ชัดเจนหลายอย่างไม่มีรูปธรรมหรือเป้าหมายชี้วัดว่าจะทำอะไรกันแน่” นายชัยธวัช กล่าว



นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้บอกว่าทางด้านการเมืองประเทศไทยได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านด้านกฎหมายการเมืองและการปกครอง แต่ตนพยายามอ่านหลายรอบและตั้งคำถามว่ารัฐบาล นายกฯ กำลังหมายความว่าเรากำลังเปลี่ยนจากอะไรไปสู่อะไร เมื่อไล่อ่านดูพบว่ามี 7 หัวข้อ



เรื่องแรกนายกรัฐมนตรีได้บอกว่ารัฐบาลชุดนี้มีนโยบายที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ แน่นอนว่าการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องทำ ในฐานะที่เป็นองค์พระประมุขของประเทศ แต่ตนกำลังสงสัยว่าการที่นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นแรก รัฐบาลกำลังส่งสัญญาณอะไร รัฐบาลกำลังจะบอกว่าปัญหาทางการเมืองที่สำคัญมากๆ ขณะนี้ คือสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา กำลังถูกคุกคามจนกลายเป็นภารกิจแรกที่นายกกล่าวถึงใช่หรือไม่



ขณะที่ความเป็นจริงอีกด้านที่ไม่ถูกกล่าวถึงคือการรัฐประหาร 2 ครั้ง เรากำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ก็คือปัญหาการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่



“ถ้าผมปิดตาฟัง พารากราฟแรกว่ารัฐบาลจะทำอะไร ผมนึกว่านี่เป็นคำแถลงของรัฐบาลประยุทธ์ 3” นายชัยธวัช กล่าว



นายชัยธวัช กล่าวว่า ประเด็นที่สองเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ นายกฯ บอกว่านโยบายเร่งด่วนสุดท้ายคือการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ตนอยากจะถามทิ้งไว้ว่า สุดท้ายนายกแถลงเมื่อวานนี้ตกลงที่เคยบอกว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก จะมีการพิจารณาให้จัดลงประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. จากการเลือกตั้งนั้นไม่มีแล้วใช่หรือไม่



ประเด็นที่สาม เรื่องหลักนิติธรรม ตนอ่านสิ่งที่รัฐบาลจะทำก็ยังไม่เข้าใจว่ารัฐบาลจะทำอะไรบ้างเพื่อฟื้นฟูหลักนิติธรรม แต่คำถามตัวโตที่เกิดขึ้น หลังจากฟังคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ก็คือตกลงหลักนิติธรรมที่รัฐบาลกำลังจะฟื้นฟูนั้นคืออะไรกันแน่ ไม่มีการพูดถึงประชาชนเป็นเป้าหมายในการฟื้นฟูสักคำเดียว ตกลงหลักนิติธรรมเป็นไป เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองหรือไม่ เป็นหลักนิติธรรมแบบไหนแบบไทยๆ



นายชัยธวัช ยังกล่าวว่า เรื่องการกระจายอำนาจยิ่งแล้วใหญ่ นายกฯ บอกว่าจะใช้การบริหารในรูปแบบการกระจายอำนาจ (ผู้ว่าฯ CEO) เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานแต่ละจังหวัดรองรับการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่ทั้งหมดที่พูดขยายความไม่เห็นถึงความชัดเจนว่าจะมีมาตรการในการเพิ่มอำนาจ เพิ่มงบประมาณแเพิ่มบุคลากรและทรัพยากรต่างๆให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดๆเลย ทั้งทั้งที่นับตั้งแต่รัฐประหาร 2 ครั้ง สถานการณ์เรื่องการกระจายอำนาจถอยหลังเข้าคลอง เกิดการดึงอำนาจจากท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลางอย่างขนานใหญ่



นอกจากนี้ยังมีพูดถึงเรื่องการปราบปรามผู้มีอิทธิผลและยาเสพติด เรื่องนี้เข้ากับสถานการณ์อย่างยิ่ง สุดท้ายมีการพูดถึงการพักดันสิทธิของความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ และสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน ที่มีความคิดแตกต่างทางด้านศาสนาและอุดมการณ์ เรื่องนี้ก็มีความสับสนมาก ดูเหมือนเอาหลายเรื่องมายำกันโดยไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะทำอะไรกันแน่เป้าหมายคืออะไร



นายชัยธวัช กล่าวว่า หัวข้อสุดท้ายเป็นเรื่องนโยบายพัฒนากองทัพ นายกฯ แถลงว่าเพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือมีความมั่นคงทั้งภายในภายนอกที่สอดคล้องกับสภาวะของโลก รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคงให้มีความทันสมัย ตนต้องชื่นชม อย่างน้อยนโยบายในด้านนี้มีความพยายามอยู่บ้างที่จะลงรายละเอียด



นายชัยธวัช ย้ำหัวข้อนี้ว่า นโยบายเกี่ยวกับกองทัพสำคัญมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นแบบนั้น เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเรื่องรัฐประหารเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย กองทัพกลายเป็นกระดูกสันหลังของระบบอำนาจนิยมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่แก้ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหาร การปฏิรูปการเมืองที่ปราศจาก การปฏิรูปกองทัพ จะทำให้ไม่มีหลักประกันในการสร้างความเข้มแข็งของระบบประชาธิปไตย



นายชัยธวัช กล่าวว่า สังคมไทยเราเคยพลาดการปฏิรูปกองทัพมาแล้วหลังจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 เพราะตอนนั้น เราต่างคิดว่าเมื่อทหารที่ลุกขึ้นมาทำการรัฐประหารถูกประชาชนขับไล่กลับเข้ากรมกองไปแล้ว กองทัพจะเลิกยุ่งกับการเมืองไปเองโดยอัตโนมัติแม้จะไม่มีการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด แต่มาถึงวันนี้เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าความคิดนั้นผิด



อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าในรัฐบาลใหม่ชุดนี้เรามีรัฐมนตรีกลาโหมคนแรกที่เป็นพลเรือนและไม่ใช่นายกรัฐมนตรี ตนคิดว่ามีความน่าสนใจหมายความว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่พลเรือนอยู่ในกองทัพใช่หรือไม่ หรือเอาเข้าจริงแล้วการส่งพลเรือนมานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมครั้งนี้ จะกลับกลายเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลใหม่ว่ารัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะไม่ยุ่งจะไม่แตะกองทัพ



นายชัยธวัช กล่าวว่า พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีนโยบายที่เรียกว่าปฏิรูปกองทัพเป็นทหารอาชีพ ตนตามไปดูเอกสารที่ส่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้บรรยายว่าจะปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันการก้าวก่าย แทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้มีความเป็นทหารอาชีพ เสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการรัฐประหารและแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ ปรากฏว่าตอนแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวานนี้ความมุ่งมั่นชัดเจนของแกนนำรัฐบาลหายไปไหน



“ดูน่ารักนะครับ จากบอกว่าจะเสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านรัฐประหารหายไปเลยครับ ไม่แม้แต่จะพูดถึงคำว่ารัฐประหารสักคำในการแถลงนโยบายของรัฐบาลพลเรือนครั้งแรก หลังการรัฐประหารปี 2557 ทั้งๆ ที่เรื่องการรัฐประหารเป็นปัญหาสำคัญมากของการเมืองไทยและพี่น้องประชาชนหลายล้านคนที่ออกมาเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ต่างก็คาดหวังว่าเมื่อเรามีรัฐบาลที่นำโดยพลเรือนชุดใหม่ รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก” นายชัยธวัช กล่าว



นายชัยธวัช ตั้งคำถามว่า คำว่ารัฐประหารนี้หน้าแสลงใจมากใช่หรือไม่ หรือนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้เกรงใจพลเอกประยุทธ์ และคณะรัฐประหารมากขนาดนั้นเลยใช่หรือไม่ แล้วที่เคยบอกว่าจะแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ พอตนฟังและอ่านซ้ำในการแถลงนโยบายช่างเต็มไปด้วยความคลุมเครือและไม่ชัดเจน ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ได้ให้สัมภาษณ์บอกว่าจะค่อยๆค่อยๆลดสัดส่วนการบังคับเกณฑ์ทหารและเพิ่มสัดส่วนคนที่สมัครใจมาเป็นทหารเกณฑ์



“ตกลงท่านนายกรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเอาอย่างไร จะไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหารแล้วใช่หรือไม่ แล้วที่รัฐบาลแถลงนโยบายว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการเกณท์ทหารเป็นแบบสมัครใจ ท่านรัฐมนตรีต้องตอบ ท่านนายกฯช่วยตอบด้วยยิ่งดี หมายความว่าอย่างไรกันแน่ ตกลงเราจะเปลี่ยนรูปแบบการบรรจุกำลังพลทหารให้เป็นแบบสมัครใจไม่มีการบังคับเกณฑ์หารอีกต่อไปแล้ว หรือบังคับอยู่แต่ค่อยๆเพิ่มจำนวนผู้สมัครใจเป็นทหารเกณฑ์เท่านั้น” นายชัยธวัช กล่าว



นายชัยธวัช ย้ำว่า ต้องถามให้ชัดเพราะการเลิก การลดการเกณฑ์หารมันต่างกันมาก ถ้าแค่ลดเท่านั้น ตนสงสัยว่าจะมีอะไรใหม่ เพราะต่อให้ไม่มีรัฐบาลชุดใหม่หลายปีมาแล้ว กองทัพก็ดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว



“ลองสลับท่านสุทินเป็นพลเอกประยุทธ์ไปนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในคณะรัฐบาลชุดนี้ ก็ไม่มีอะไรต่างออกไป สภากลาโหมที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั่งเป็นหัวโต๊ะ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ก็ได้ประกาศแผนการปฏิรูปมีเรื่องนี้เนื้อหาสาระเดียวกันเลย แถมพลเอกประยุทธ์ยังได้ย้ำในที่ประชุมสภากลาโหมครั้งนั้นด้วยว่านี่คือแผนของเราที่ทำอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวว่าใครจะมาหรือไม่ ท่านนายกเศรษฐารัฐมนตรีสุทินได้ยินไหมครับ” นายชัยธวัช กล่าว



นายชัยธวัช ถามว่า แบบนี้รัฐบาลใหม่จะให้นายสุทินไปนั่ง เป็นแค่โฆษกกองทัพใช่หรือไม่ ท่านรัฐมนตรีสุทิน อาจจะบอกว่ารัฐบาลมีเป้าหมายจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งหมดในที่สุด แต่ที่ไม่สามารถยกเลิกได้ทันทีเพราะกลัวจะไม่มีคนมาสมัครเป็นคนทหารพอกับจำนวนกำลังคนที่ต้องการ



คำถามคือสามารถบอกได้หรือไม่ว่ามีเป้าหมายจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งหมดในกี่ปี คนรุ่นใหม่ของประเทศที่ยังต้องสูญเสียช่วงวัยที่ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานอีกนานเท่าไหร่



พร้อมถามว่า ยังมีพลทหารถูกไปซักผ้าถูบ้านขับรถหรือไปเป็นทหารรับใช้ส่วนตัวของใครอีกหรือไม่ แล้วถ้ารัฐมนตรีจะจัดการอย่างไร ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทหารเกณฑ์เสียชีวิตโดยปริศนาอีก ปัญหาทหารผีจะมีอีกหรือไม่



นายชัยธวัช แนะนำว่า การกำหนดนโยบายควรจะเริ่มต้นจากจำนวนกำลังพลว่าต้องการเท่าไหร่ เราต้องการกำลังพลทหารประจำการมากขนาดนี้เพื่อไปเตรียมกำลังลบภาคพื้นดินขนานใหญ่กับใคร ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ปัจจุบันโจทย์ได้เปลี่ยนไปแล้วกองทัพขนาดใหญ่มีกำลังพลเยอะ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อรองรับภัยคุกคามและสงครามแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ความมั่นคงสมัยใหม่แล้ว



“กองทัพไทยหลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา แทบไม่ต่างจากยุคสงครามเย็น ถือเป็นปัญหาใหญ่ การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปกองทัพเพราะเมื่อกำลังพลลดลงจำนวนผู้หวดผู้การไปจนถึงนายพลก็ถูกบีบให้ลดลงไปด้วย นำไปสู่การปฏิรูปทั้งระบบ” นายชัยธวัช แนะ



นายชัยธวัช กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นการทำไอโอ พวกตนอภิปรายมา 3 ครั้งซ้อนแล้ว อยากเปลี่ยนเรื่องอภิปรายบ้าง หากเกิดขึ้นต่อไปจะเป็นการปล่อยให้กองทัพเป็นคู่ขัดแย้งกับพลเรือนหรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ