สังคม

ดรามาแย่งสมัครสอบตั๋วครู อย่างกับบัตรคอนเสิร์ต 'คุรุสภา' ชี้สื่อสารคลาดเคลื่อน ยันปี 67 จะจัดสอบอีก 10 รอบ

โดย nattachat_c

5 ก.ย. 2566

296 views

จากกรณี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ประกาศเรื่องการเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้ และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู รายวิชาครู ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566


โดยเปิดรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 4 - 22 ก.ย. 2566 ที่เว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา


แต่ต่อมา ปรากฏว่า วานนี้ 4 ก.ย. 66 ซึ่งถือเป็นวันแรกในการเปิดรับสมัครสอบใบประกอบวิชาชีพครูดังกล่าว กลับเกิดปัญหาขึ้น โลกโซเชียลต่างพากันติดแฮชแท็ก #ใบประกอบวิชาชีพครู จนพุ่งติดเทรนด์


โดยส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ ว่า หลังจากเปิดรับสมัครสอบไม่นาน กลับพบว่า ทุกสนามสอบเต็มทุกที่นั่ง เต็มทุกรอบ ทำให้คนเสียสิทธิเป็นจำนวนมาก


บางแห่ง เปิดรับสมัครได้ไม่ถึง 2 นาที  ก็พบว่า ที่นั่งสอบเต็มทุกที่นั่งแล้ว หรือเข้าเว็บไปไม่นาน ก็เจอเว็บล่ม บางคนอยู่สุมทรปราการ แต่สนามสอบใกล้เคียงเต็ม จนต้องไปสมัครสอบที่ลำปาง เป็นต้น


ซึ่งผู้สมัครสอบมองว่า ทุกคนควรจะมีสิทธิที่จะได้สอบ ไม่ควรจะมาแย่งที่นั่งสอบกันแบบนี้ และเรียกร้องให้ทางคุรุสภาออกมาดำเนินการแก้ไข หรือชี้แจงโดยด่วน

-------------

ทั้งนี้ มีผู้ใช้โซเชียลหลากหลายแพลตฟอร์ม ได้พูดถึงกรณีนี้ 


ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ อามิโยะ บูลเกิร์ล โพสต์ข้อความระบุว่า

“งึดประเทศไทย เปิดสอบใบประกอบวิชาชีพครูซื่อ ๆ กะได้ ให้เขาแย่งกันปันซื้อบัตรคอนเสิร์ต แทนที่จะดูว่ามีคนมีสิทธิ์กี่คน แล้วเปิดทั่วทุกจังหวัดให้สอบ นี่เปิดแค่ 4 รอบ 8 จังหวัด เปิดระบบ 00.30 น. มา 6 โมงเช้า ที่นั่งสอบเต็มทุกจังหวัดเต็มทุกรอบ ยังกะกดบัตรคอนเสิร์ต 55 กะบ่น่าจำกัดดอก ไผอยากสอบ เขามีสิทธิ์กะเปิดให้สอบมหาลัยจังหวัดนั้น ๆ โล้ดด เจ้านายเอ้ยยย #คุรุสภา #ใบประกอบวิชาชีพ #กระทรวงศึกษาธิการ”


ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Jetsada Srijanda

โพสต์คลิปที่บันทึกภาพหน้าเว็บไซต์ ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา พบว่า มีการสมัครเต็มทุกรอบ 4 รอบ


ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ บิว ตี้ โพสต์ข้อความระบุว่า

“โมโหเด้ ขอนแก่นเต็ม กทม.เต็ม เหลือแต่ขึ้นเหนือลงใต้ บาทหนิ ทำงานเอาเงินไปสอบที่ไกล ๆ กะบ่แม่นเด้ จ.ภาคตัวเอง ก็เต็ม บาดนี้ล่ะค่า ใช้จ่ายจะบานปายน้ำมันก็แพงงึด”

เพจ ครูลูกชาวนา สื่อโซเชียลซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของคนที่มีความฝันอยากเป็นข้าราชการครู ก็ได้มีการเขียนโพสต์ถึงกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยก็เป็นการขอให้เพิ่มรอบการสอบขึ้นอีก เพราะตามจำนวนเดิมไม่เพียงพอต่อนักศึกษา ที่ทุกคนควรมีสิทธิ์สอบ

“ถึง คุรุสภา ….การสอบใบประกอบวิชาชีพครูปี 2566 ขอให้เพิ่มรอบการสอบขึ้นอีก เพราะตามจำนวนเดิมไม่เพียงพอต่อนักศึกษา ทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะสอบ  ไม่ใช่มาเสี่ยงดวงกับระบบสมัครที่จำกัด ควรจัดให้เพียงพอในยอดนักศึกษาแต่ละปีครับ”

----------

ต่อมา วานนี้ (4 ก.ย. 66) นางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า


การที่คุรุสภาสมัครการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู รายวิชาครู ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ซึ่งพัฒนาระบบ เช่นเดียวกันการระบบการจัดสอบของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สอบ 2 วิชา คือ วิชาครู และวิชาเอก


โดยได้อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่พัฒนาระบบ จัดสอบที่ศูนย์สอบของ ก.พ.ทั้ง 5 ภูมิภาค สาเหตุที่ไม่สามารถใช้มหาวิทยาลัยทั้งหมดเป็นศูนย์สอบได้ เนื่องจากความพร้อมของระบบคอมพิวเตอร์แต่ละแห่งไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงเลือกใช้มหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์สอบของ ก.พ.อยู่แล้ว


นางอมลวรรณ กล่าวว่า ทั้งนี้การสอบครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 จัดให้สอบประมาณ 20,000 ที่นั่ง จำนวน 4 รอบ ได้แก่

  • วันที่ 11 พ.ย.66 เวลา 13.00-16.00 น.
  • วันที่ 12 พ.ย.66 เวลา 13.00-16.00 น.
  • วันที่ 25 พ.ย.66 เวลา 13.00 – 16.00 น.
  • วันที่ 26 พ.ย.66 เวลา 13.00 – 16.00 น.
  • ประกาศผลในช่วงเดือนธันวาคม
  • และจะประกาศรับสมัครสอบอีกครั้งในช่วงเดือนมกราคม 2567


โดยจะสอบอีกประมาณ 10 รอบ เช่น การสอบในเดือนก.พ. จะรับสมัครวันที่ 6-21 ม.ค. และจะสอบรวม 10 รอบ

  • รอบที่ 1 / วันที่ 3 ก.พ.
  • รอบที่ 2 / วันที่ 4 ก.พ.
  • รอบที่ 3 / วันที่ 17 ก.พ.
  • รอบที่ 4 / วันที่ 18 ก.พ.
  • รอบที่ 5 / วันที่ 9 มี.ค.
  • รอบที่ 6 / วันที่ 10 มี.ค.
  • รอบที่ 7 / วันที่ 16 มี.ค.
  • รอบที่ 8 / วันที่ 17 มี.ค.
  • รอบที่ 9 / วันที่ 23 มี.ค. แ
  • รอบที่ 10 วันที่ 24 มี.ค.


นางอมลวรรณ กล่าวอีกว่า ทั้งหมดนี้ เป็นปฏิทินการสอบครั้งที่ 2 ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2567 ที่คุรุสภา กำหนดจะจัดสอบให้ได้รอบละประมาณ 5,000 คน รวม 10 รวม เท่ากับ 50,000 คน หลักจากนั้น ตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นไป ก็จะเปิดให้สอบได้ทุกเดือน ให้สอบได้ทั้งปี


เพราะฉะนั้น ผู้ที่ลงทะเบียนไม่ทัน ไม่ต้องตกใจว่า คุรุสภาจะจัดสอบครั้งเดียว ยังจัดสอบอีกหลายรอบ และตั้งแต่ปี 2567 การสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯ จะเกิดขึ้นทุกเดือน


ทั้งนี้ ปฏิทินที่กำหนดไว้ ยังเป็นเพียงการวางแผนเบื้องต้น เพราะต้องไปดูด้วยว่า ช่วงเวลาที่กำหนดไว้จะไปตรงกับการสอบของ ก.พ.หรือไม่ แต่คิดว่าปีหน้าจะสามารถจัดสอบได้หมดทั้ง รวมกว่า 90,000 คน ถ้ารวมกับที่จัดสอบในปีนี้ไปแล้ว 4 รอบ ก็จะมีผู้เข้าสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตฯได้ประมาณกว่า 100,000 คน


ที่ผ่านมา อาจสื่อสารและทำให้เกิดการเข้าใจผิด คิดว่าจะจัดสอบเพียงครั้งเดียว ซึ่งไม่ใช่ผู้สำเร็จการศึกษา สามารถสมัครสอบได้อีกครั้ง เดือนมี.ค.


ส่วนข้อสอบแต่ละครั้ง จะไม่เหมือนกัน รูปแบบข้อสอบก็จะแตกต่างกันไป โดยปีนี้จะสอบแบบมีตัวสถานการณ์เป็นตัวตั้ง เพื่อจะวัดสมรรถนะ เป็นต้น


เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีข้อเสนอว่า ไม่ควรให้เด็กที่เรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ปีที่ 3 และ4 เข้าสอบด้วยนั้น ก็ไม่อยากให้ไปกันสิทธิ เพราะเข้าใจว่า นักศึกษาเหล่านี้ก็อยากเข้าสอบ และมีคุณสมบัติครบที่จะสอบ ส่วนเหตุผลที่ต้องประกาศสอบเป็นรอบ ๆ เพราะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง และข้อสอบ รูปแบบการสอบแต่ละครั้ง ก็จะไม่เหมือนกัน


“ดิฉันไม่กังวล เพราะทุกอย่างมีที่มาที่ไป และการที่นักศึกษามีข้อสงสัยว่า ทำไมสอบที่สถาบันการศึกษาของตัวเองไม่ได้ ต้องไปสอบที่ศูนย์สอบ เพราะการสอบต้องใช้ศูนย์สอบที่มีคุณภาพ มีระบบการป้องกันกันทุจริต และการสอบจะใช้เกณฑ์เดียวกับ ก.พ.ทุกอย่าง ตรวจสอบสนามสอบในเชิงลึก นักศึกษาไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้สอบ เพราะการสอบมีหลายรอบ


ส่วนกรณีที่ หลังเปิดรับสมัคร พบว่า ทุกสนามสอบมีผู้สมัครเต็มอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนตัวไม่คิดว่าจะมีผู้สมัครเข้ามาจำนวนมาก โดยระบบสแตนบายไว้รองรับคน 50,000 ต่อวินาที แต่มีผู้สมัครสอบเกินเป้า เพราะฉะนั้น ในระยะยาวอาจมีแผนการขยายสนามสอบ แต่ก็ต้องขอตรวจสอบคุณสภาพสนามสอบก่อน” นางอมลวรรณ กล่าว

-----------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/3ZN6RxN-aIk











คุณอาจสนใจ

Related News