เลือกตั้งและการเมือง

นักวิชาการ ฝากการบ้าน ครม.เศรษฐา1 เร่งการปัญหาเศรษฐกิจ

โดย paranee_s

3 ก.ย. 2566

212 views

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดการเสวนา " การบ้านวิกฤตประเทศไทย" โดยดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย we fair


โดยดร.นณริฏ ระบุว่า พรรคเพื่อไทยจัดอยู่ในฝ่ายเสรีนิยม หรือระบบรัฐสวัสดิการ ในขณะที่พรรค 2 ลุง เป็นฝ่ายอนุรักษนิยม สิ่งที่ยากเห็นในรัฐบาลเศรษฐา1 คือผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่การเติบโตกระจุกตัว เกิดทุนผูกขาด และไม่อยากเห็นการแจกเงินที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบ ไร้ความไม่จำเป็น เป็นภาระทางการคลัง ถ้าสังเกตอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยจะเติบโตน้อยลงเรื่อย ๆ หลังวิกฤตทางเศรษฐกิจแต่ละครั้ง โดยเฉพาะหลังวิกฤติโควิด เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 3% ต่อปี ส่งผลให้เป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เดิมตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในปี 2035-2036 แต่ตอนนี้ขยับเป็น 2043-2048 ซึ่งถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่


แต่เตือนรัฐบาลใหม่ว่าต้องถ่วงดุลระหว่างการทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้กับความจำเป็น เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนก็ควรปรับนโยบายในการแก้ไขปัญหาตามความจำเป็น บางนโยบายอาจต้องลดขนาด บางนโยบายอาจต้องพักไปก่อน เช่น นโยบายเงินดิจิตอล 10,000 บาท ที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก จำเป็นที่จะต้องดำเนินการในตอนนี้หรือไม่ มันอาจจะเหมาะสมในตอนหาเสียง แต่ไม่เหมาะสมในตอนนี้


สิ่งแรกที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไข คือ ปัญหาหนี้ โดยไม่จำเป็นต้องยกเลิก แต่ต้องจัดกลุ่มลูกหนี้ และดูแลอย่างเหมาะสม อย่าเหวี่ยงแห อย่าคิดเองควรปรึกษาหน่วยงานที่มีความรู้และมีข้อมูลเพื่อแก้ไขสถานการณ์ตรงจุด


ด้านนายธนิต มองว่า รัฐบาลเศรษฐา ต้องเจอกับโจทย์ 6 ข้อ คือ 1.เศรษฐกิจ ได้รับความบอบช้ำต่อเนื่องหลายปี ทั้งจากการรัฐประหารและวิกฤตโควิด 19 แถมถูกซ้ำเติมจากวิกฤตโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ดังนั้น ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ปัญหาคือเงินในมือของประชาชนส่วนใหญ่ ขาดสภาพคล่อง จึงต้องเอาเงินใส่มือประชาชน


2. สภาพคล่องและหนี้เปราะบาง เกิดวิกฤตนี้ครัวเรือน มีการรอปรับโครงสร้างหนี้ถึง 9.8 แสนล้านราย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่มีสัดส่วน 90.6 ต่อ GDP ดังนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข


3. ส่งออกหดตัวในรอบ 3 ปี กระทบ ภาคการผลิต บริการ เกษตรกรรม ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ยากและเป็นปัญหาทางโครงสร้าง ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ลูกค้าต่างชาติไม่มีสตางค์ ประเด็นนี้ต้องติวงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่เข้าใจด้วย


4. ภาคการท่องเที่ยว เป็นภาพเดียวที่มีการฟื้นตัวชัดเจนที่ผ่านมา และมีการเตรียมพร้อมที่จะฟรีวีซ่าให้กับจีน โดยคาดหวังว่าจะดึงนักท่องเที่ยวจีน 11 ล้านคน จากเป้าหมายปีนี้อาจไม่ถึง 5 ล้านคน ให้กลับมาท่องเที่ยวเหมือนเดิมก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด 19


5. ควรทบทวนแนวทางการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทและปริญญาตรี 25,000 บาท ยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม เพราะภาคเอกชนโดยเฉพาะ SME อยู่ในภาวะลำบากยอดขายหดตัว ต้นทุนสูง รวมถึงปัญหาสภาพคล่อง หากจะปรับจริงควรเป็นเดือนพฤษภาคมปีหน้าและควรทยอยปรับ 4 ปี โดยไม่จำเป็นต้องเฉลี่ยเท่ากัน เพราะยิ่งค่าแรงสูงเด็กจบใหม่จะยิ่งหางานยาก ขณะที่นายทุนอาจย้ายฐานการผลิต ลดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และจะเกิดภาวะทิ้งสายอาชีพไปเรียนระดับปริญญาตรีกันหมด


6. การกระตุ้นเศรษฐกิจกระเป๋าเงินดิจิทัล ต้องใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ร้อยละ 5 แล้ว แต่ตอนนี้ยังมีความไม่ชัดเจนในหลายประเด็นที่ต้องทำให้ประชาชนคล้ายสงสัย


ทั้งนี้นายธนิต เป็นห่วงว่าประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่รัฐที่ล้มเหลว รัฐบาลทำตัวเหมือนแม่ตามใจลูก ตอนนี้คนไทยอยากเป็นเสี่ยทั้งประเทศและมีความต้องการมากมาย ในขณะที่คนเสียภาษีมีแค่ 4.5 ล้านคน เลี้ยงคนกว่า 66 ล้านคนทั้งประเทศ


นายนิติรัตน์ กล่าวว่า กลุ่มวีแฟร์ได้นำรัฐสวัสดิการทั่วหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนไปเสนอตามพรรคการเมืองและกระทรวงต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกัน ซึ่งตนเชื่อว่าจะมีผลทางเศรษฐกิจ เพราะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ที่คุมกระทรวงตอนนี้บางพรรคไม่มีนโยบายเลย ที่ไปนั่งเป็นเจ้าของกระทรวง แต่บางพรรคก็นำไปสู่ระบบที่นำไปสู่รัฐสวัสดิการ


"ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตอนหาเสียงแต่ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย มีระเบียบแจกเฉพาะคนจนเท่านั้น ....ความยากจนของเรามีประมาณ 2,800 บาท เรามีคนจนตุนไว้ในประเทศของเรา 9.2 ล้านคน ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก" นายนิติรัตน์


นายนิติรัตน์ กล่าวว่า งบฯที่จะนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิตอล 5.6 แสนล้านบาท น่าจะใช้งบฯ ที่มีอยู่แล้ว แต่ตนขอว่าไม่ควรลดงบฯ สวัสดิการของประชาชน 4.5 แสนล้านบาท จึงอยากเสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีซึ่งเกี่ยวข้องกับกองทัพที่ใช้งบประมาณฯ ราว 2 แสนล้านบาท เป็นเงิน 1 แสนล้านบาท หากปรับลดงบฯ ซื้อเรือดำน้ำ 3 หมื่นล้านล้าน ได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนละ 600 บาท ได้ทันที 4 ล้านคนในช่วง1 ปี ซึ่งหากมีการปฏิรูปจริงกำแพงระหว่างคนรวยกับคนจนจะสมานฉันท์มากขึ้น และยังส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง และกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบได้ ส่วนสิ่งที่ไม่ควรขึ้นคือภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เพราะจะกระทบเป็นวงกว้าง ควรไปขึ้นภาษีนิติบุคคลน่าจะดีกว่าซึ่งเป็นข้อเสนอของธนาคารโลกที่เสนอเก็บภาษีเจ้าสัว เพราะรายได้ของ40 ครอบครัว เท่ากับGDP 30% ของทั้งประเทศ

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ