เศรษฐกิจ

ราคากุ้งตกต่ำผู้เลี้ยงกุ้งเร่งจับขายตามโควตาที่ได้รับการชดเชยส่วนต่างด้านราคา กิโลกรัมละ 20 บาท

โดย kanyapak_w

1 ก.ย. 2566

1.5K views

ราคากุ้งตกต่ำผู้เลี้ยงกุ้งเร่งจับขายตามโควตาที่ได้รับการชดเชยส่วนต่างด้านราคา กิโลกรัมละ 20 บาท ด้าน ปธ.ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งกระบี่เรียกร้อง รัฐบาลใหม่ เร่งช่วยเหลือลดราคา ค่ากระแสไฟฟ้า แก๊สหุงต้ม หาตลาดการส่งออกเพิ่มขึ้น



นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นางวิภารัตน์ ภูเก้าล้วน พาณิชย์จังหวัดกระบี่ พร้อมเจ้าหน้าที่ร่วมลงพื้นที่ติดตามการจับกุ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่ อำเภอเหนือคลอง หลังจากเลี้ยงมาได้ขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม รวมน้ำหนักกว่า 4 ตัน จำนวน 2 ตัน ขายเข้าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยภาครัฐจะจ่ายเงินส่วนต่างกับราคาตลาด กิโลกรัมละ 20 บาท ค่าบริหารจัดการด้านการตลาด กิโลกรัมละ 10 บาท ตามที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ประสบปัญหาตกต่ำออกมาเรียกร้องก่อนหน้านี้



นายหรินทร์ ลือประสงค์จิตร ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า จังหวัดกระบี่ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ กว่า 5 ล้านบาท จํานวนกุ้งน้ำหนัก 165 ตัน มีเกษตรกรจังหวัดกระบี่ ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 ราย ๆ ละไม่เกิน 3 ตัน จากจำนวน ผู้เลี้ยงกุ้ง กว่า 200 ราย โดย ที่ผ่านมามีเกษตรกรจับกุ้งเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 25 ราย

การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคา เป็นเพียงบรรเทาผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับราคาที่ขายกุ้งได้ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าแก๊สหุงต้มสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง ค่าอาหารกุ้ง ค่าเคมีภัณฑ์ จึงเรียกร้องให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น ลดค่า กระแสไฟฟ้า แก๊สหุงต้ม ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องตีน้ำให้ออกซิเจน และการหาตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีกุ้งจำนวนมาก ตกค้างอยู่ในห้องเย็น โดยราคากุ้งตกต่ำมาก ขนาด 100 ตัว/กก. ขายได้ กก.ละ 105 บาท ขนาด 30 ตัว/กก.ขายได้ กก.ละ 130-140 บาท เกษตรกรประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก

ขณะนี้พบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง หยุดเลี้ยงชั่วคราวแล้วหลายราย บางรายลดจำนวนการเลี้ยงลง เพื่อลดต้นทุน บางรายปรับตัวหันมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำแทน เนื่องจากขณะนี้ราคาดีกว่ากุ้งขาวแวนไม แต่ระยะเวลาเลี้ยงนานกว่า 4-7 เดือน ตามขนาดกุ้งที่ต้องการ ซึ่งราคากุ้งกุลาดำขนาด 30 ตัวต่อกิโลกรัมราคาไม่ต่ำกว่า 250 บาท ขนาด 40 ตัวต่อกิโลกรัม ละ 200 บาท


ด้านนายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่ Shrimp Board ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน ดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) มีมติ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 เห็นชอบให้กรมการค้าภายในดำเนิน “โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566” ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน - 30 กันยายน 2566 โดยอนุมัติเงินจ่ายขาดวงเงิน 154.50 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการฯโดยสนับสนุนค่าชดเชยราคากุ้งให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในอัตราไม่เกินกิโลกรัมละ 20 บาท และค่าบริหารจัดการในส่วนของค่าใช้จ่ายดำเนินการด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหรือผู้รวบรวมที่เข้าร่วมโครงการในอัตราไม่เกินกิโลกรัมละ 10 บาท เป้าหมาย 5,000 ตัน นั้น



ทั้งนี้กรมฯ ได้ติดตามภาวะราคาจำหน่ายกุ้งขาวแวนนาไมอย่างต่อเนื่อง โดยกุ้งขาวขนาด 70 ตัว/กก. เดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ กก.ละ 95-120 บาท และความคืบหน้าของโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566 กรมการค้าภายในได้จัดสรรงบประมาณให้จังหวัดแหล่งผลิตกุ้ง ตามมติคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ทั้งสิ้น 21 จังหวัด มีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,294 ราย และผู้รวบรวม 64 ราย ซึ่งขณะนี้การดำเนินโครงการฯ ลุล่วงไปแล้วกว่า 50% โดยมีการเชื่อมโยงการจำหน่ายกุ้งสู่ผู้บริโภคภายในประเทศแล้วกว่า 2,600 ตัน จากเกษตรกร 1,188 ราย ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง โดยกรมการค้าภายในจะกำกับดูแลการดำเนินการตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ปี 2566 ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป




แท็กที่เกี่ยวข้อง  เศรษฐกิจ ,ราคากุ้งตกต่ำ ,กุ้ง

คุณอาจสนใจ

Related News