เศรษฐกิจ

สศช.ห่วงหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1 ปี 66 พุ่ง 3.6% ชี้แจกเงินดิจิทัล ต้องดูรายละเอียดให้ชัด

โดย paranee_s

28 ส.ค. 2566

118 views

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1 ปี 2566 มีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่คงที่เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนหน้า สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ซึ่งอยู่ที่ 91.4%


โดยเฉพาะหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว 2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 4 ปี 65) ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 1.2% และสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 5.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 4 ปี 65) ซึ่งอยู่ 4.4%


ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ NPLs มีมูลค่า 1.44 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.68% เพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 4 ปี 65) ซึ่งมีหนี้ NPLs อยู่ที่ 1.40 แสนล้านบาท สัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวม 2.62%


ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ หนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาส1 ปี 2566 หนี้ NPL ของสินเชื่อยานยนต์มีมูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มสูงถึง 30.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส


การติดกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคิดเป็น 88% ของเงินให้กู้ยืมแก่สมาชิกสหกรณ์ทุกประเภท และส่วนใหญ่กู้เพื่อใช้สอยส่วนตัวและเพื่อชำระหนี้สินเดิม และเกือบครึ่ง เป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ อีกทั้งพบว่าทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องของคนไทยปัจจุบันลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563


ด้านการจ้างงาน ไตรมาส 2 ปี 2566 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.7% จาก การขยายตัวของการจ้างงานสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่ 2.5% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารยังขยายตัวได้ดี ต่อเนื่องที่ 11.7% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นเดียวกับสาขาก่อสร้าง สาขาการผลิต การค้าส่งและค้าปลีก และการขนส่งและเก็บสินค้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัวลงเล็กน้อยจากปัญหาภัยแล้ง


สำหรับค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 15,412 บาท และภาคเอกชน และ 14,032 บาทต่อคนต่อเดือน อัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 1.06% หรือมี ผู้ว่างงาน 4.3 แสนคน แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อยซึ่งอยู่ที่ 1.05% แต่ยังต้องติดตามปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคบริการ ส่วนหนึ่งมาจากเด็กจบใหม่ไม่ตรงกับตำแหน่งงานที่ว่าง


นอกจากนี้เลขาสศช. ยืนยันว่า สศช. ยังไม่ได้เสนอให้ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% แต่อย่างใด เป็นเพียงแนวทางการหารือในวงสัมมนาทางออกในการหารายได้เพื่อมาดูแลผู้สูงอายุเท่านั้น


ส่วนมาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องไปดูวิธีการและรายละเอียดที่ชัดเจนก่อน ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ รวมถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้ต้องดูภาระการคลังที่มีด้วย ส่วนข้ออ้างที่ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน บอกว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หลังจากที่ไตรมาส 2 ชะลอตัว เลขาธิการสศช.ระบุว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปลาย ปี 65 บวกกับภาคการผลิตในอุตสาหกรรมที่ลดลง และการบริโภคของรัฐที่หายไป


ส่วนการเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีที่พรรคเพื่อไทยในวันนี้ ก็เป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานราชการจะเข้าไปให้ข้อมูลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ