สังคม

ทีมสัตวแพทย์ เร่งวางแผนรักษา “พลายศักดิ์สุรินทร์” 18 ส.ค.เตรียมย้ายไปยังโรงพยาบาลช้าง

โดย paranee_s

9 ส.ค. 2566

79 views

นายประสิทธิ์ เกิดโต โฆษกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กล่าวถึงความคืบหน้า “พลายศักดิ์สุรินทร์” และแนวทางการรักษา ว่า หลังจากย้ายเข้ามาที่ศูนย์วิจัยและควบคุมเฝ้าระวังโรค ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมาจนครบ 1 เดือนตามกำหนด


พบพ่อพลายสามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่และควาญทั้ง 3 คนได้ดี ทั้งการยอมให้ขึ้นคอ เข้าใกล้สัมผัสตัวอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นทีมสัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจกระบวนการกักกันและเฝ้าระวังโรค โดยไม่พบไข่พยาธิในอุจจาระ ไม่พบพยาธิในเลือด ไม่พบวัณโรค โรคแท้งติดต่อ ฉี่หนู ปากและเท้าเปื่อย และโรคเฮอร์ปีสไวรัส (EEHV)


ส่วนผลการตรวจค่าโลหิตวิทยาและชีวเคมีในเลือดปกติ สามารถกินอาหาร-น้ำ ขับถ่ายปกติ นอนราบบนพื้นทรายได้เฉลี่ยคืนละ 1 – 3 ชั่วโมง ซึ่งการนอนราบของช้างถือว่าช้างมีความเชื่อใจในควาญช้างและพื้นที่ระดับหนึ่ง


สำหรับการรักษาแผลฝีบริเวณสะโพกทั้ง 2 ข้างสัตวแพทย์ได้ทำความสะอาดให้ทุกวัน ขณะที่ผลการเก็บตัวอย่างเลือดตรวจสอบรอบที่ 3 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมาคาดจะออกในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ หากมีการกักกันโรคอย่างน้อย 30 วันแล้ว ทางกรมปศุสัตว์จึงจะอนุมัติปล่อยตัวแล้วเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลช้างต่อไป เบื้องต้นวางแผนจะเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ ส่วนระหว่างนี้กำลังเริ่มฝึกซ้อมให้ขึ้น-ลงรถบรรทุก โดยมีควาญช้าง 3 คนช่วยกันดูแล


ด้าน นายสัตวแพทย์ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลฯ อ.อ.ป. กล่าวว่า ในส่วนของแนวทางการรักษาพบพลายศักดิ์สุรินทร์ยังคงมี 3 อาการเจ็บป่วย คือ ตาด้านขวา มีอาการคล้ายเป็นต้อกระจก จึงต้องวินิจฉัยด้วยคลื่นเสียงอัลตราซาวด์ และมีการรักษา 2 ทาง หากพบช้างมีความผิดปกติจะรักษาด้วยการสลายต้อ และการรักษาตามอาการ ขาหน้าด้านซ้าย มีอาการเหยียดตึงและผิดรูป ยังไม่ทราบว่าผิดปกติที่ส่วนใด จำเป็นต้องวินิจฉัยทั้งจากการฉายรังสีเอกซเรย์ การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูงอัลตราซาวด์ เพื่อรักษาให้ตรงเฉพาะจุด


แต่เบื้องต้นจะเริ่มรักษาแบบบรรเทาอาการไปพร้อมกัน เช่น การให้เดินวันละ 100 -200 เมตรต่อวัน และสุดท้าย พบโปรตีนปนในปัสสาวะและค่าถ่วงจำเพาะต่ำกว่าปกติ อาจบ่งชี้ถึงการทำงานของไตบกพร่องได้ ดังนั้น หากย้ายไปยังโรงพยาบาลช้างแล้วจะตรวจวัดค่าความดันเลือดและคลื่นหัวใจไปพร้อมกัน ซึ่งอาการดังกล่าวมักพบในช้างที่มีความเครียดอาจเกิดภาวะพบมีโปรตีนปนอยู่ในปัสสาวะได้ จึงจำเป็นต้องตรวจปัสสาวะต่อเนื่องไปก่อนเพื่อติดตามในระยะยาว

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ