สังคม

นักวิจัยไทยพบ ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ของโลก 'นักวิ่งจิ๋วแห่งกาฬสินธุ์' อายุกว่า 150 ล้านปี

โดย nut_p

27 ก.ค. 2566

100 views

มีข่าวดีของแวดวงบรรพชีวิน หลังนักวิจัยไทยจากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ค้นพบไดโนเสาร์ตัวใหม่ของประเทศไทย เป็นชนิดที่ 13 โดยมีอายุกว่า 150 ล้านปี และอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งการค้นพบนี้เพิ่งถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารวิชาการ MDPI เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านบรรพชีวินที่จะช่วยอธิบายวิวัฒนาการของไดโนเสาร์ยุคแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ 


นี่เป็นซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ไดโนเสาร์ตัวล่าสุดของไทย ในลำดับที่ 13 ตั้งชื่อตามแหล่งขุดค้น คือ ที่ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ ในหมวดหินภูกระดึง ช่วงยุคจูแรสสิกตอนปลาย เมื่อ 150 ล้านปีที่แล้ว



โดยทีมนักบรรพชีวินจากศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สิรินธร



มินิโมเคอร์เซอร์ มาจากคำว่ามินิมัส ที่แปลว่าตัวเล็ก และ เคอร์เซอร์ ที่แปลว่านักวิ่ง ชิ้นส่วนที่ค้นพบประกอบไปด้วย ชิ้นส่วนกะโหลกส่วนคอ และลำตัวไปจนถึงส่วนหาง กระดูกเชิงกรานและกระดูกมือ ถือเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดที่เคยค้นพบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้



มินิโมเคอร์เซอร์ ตัวนี้มีความยาว 0.6 เมตร คาดว่าอยู่ในช่วงกำลังเจริญเติบโต ซึ่งอาจยาวได้ถึง 2 เมตร สูงประมาณครั้งตัวของมนุษย์ เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก กลุ่มกระดูกเชิงกรานแบบนกหรือออร์นิธิสเชียน (Ornithischia) ที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดีมานานกว่า 5 ปี



ทีมวิจัยระบุว่า ก่อนหน้านี้มีการค้นพบซากของมินิโมเคอร์เซอร์ อีก 2 ตัว ซึ่งได้นำไปเปรียบเทียบกับกระดูกของไดโนเสาร์ในกลุ่มใกล้เคียงกันที่เคยเจอในช่วงก่อนหน้านี้ทั่วโลก



โดยเฉพาะในประเทศจีนที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ด้วยภูมิศาสตร์บรรพกาลที่เชื่อมต่อกัน แต่ก็พบลักษณะเด่นที่ต่างกัน ทีมวิจัยจึงสรุปได้ว่าตัวที่พบที่ภูน้อยเป็นไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาการวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของพวกมัน



นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า การค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ที่แม้จะมีขนาดเพียง 1,200 ตารางเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับ 3 สนามบาสเก็ตบอล แต่กลับพบซากฟอสซิลในพื้นที่กว่า 5000 ชิ้น ทั้งปลาฉลามน้ำจืด ปลาปอด เต่า จระเข้ และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ไม้กลายเป็นหิน รวมไปถึงไดโนเสาร์พันธุ์ต่างๆ ที่้เป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลกมากถึง 8 สายพันธุ์



ที่ผ่านมามีซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ 13 ชนิดที่ถูกค้นพบในประเทศไทย ทั้งกลุ่มเทอโรพอด หรือ ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ กลุ่มเซอราทอปเซียน หรือ ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว กลุ่มซอโรพอด หรือ ไดโนเสาร์คอยาว กลุ่มอิกัวโนดอน หรือไดโนเสาร์ปากเป็ด และ ล่าสุดกลุ่มออนิธิสเชียน อย่างมินิโมเคอร์เซอร์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของไดโนเสาร์อีกหลายกลุ่ม



โดยปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศให้พื้นที่ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียน เพราะคาดว่ายังคงมีซากดึกดำบรรพ์อยู่ในชั้นหินอีกมาก ที่ยังรอการค้นพบอยู่

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ