สังคม

พังงาอ่วมน้ำท่วม ทะลักเข้าพื้นที่ราบลุ่มอำเภอตะกั่วป่า เตือนคลื่นลมแรง

โดย kanyapak_w

27 ก.ค. 2566

86 views

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 66 ผู้สื่อข่าวได้ใช้อากาศยานไร้คนขับบินสำรวจบริเวณแม่น้ำตะกั่วป่า ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากอำเภอกะปงไหลลงแม่น้ำตะกั่วป่าเพื่อระบายออกสู่ทะเลพบว่ามีสภาพสีขุ่นเหลือและมีปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงและไหลเชี่ยวโดยพบว่าบริเวณรอบๆที่ติดกับแม่น้ำตะกั่วป่า น้ำยังคงไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรที่เป็นสวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่มต่ำ ทางชาวบ้านต้องนำสัตว์เลี้ยงวัว ควาย ขึ้นมาให้กินหญ้าข้างถนนเข้าหมู่บ้านที่น้ำท่วมไม่ถึงซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ถ้าฝนไม่ตกลงมาเพิ่มคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ราบลุ่มคงจะกลับสู่สภาวะปกติอย่างแน่นอน



ทางด้านนางสาวนิรชา บัณฑิตย์ชาติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา/ผู้อำนวยการจังหวัด กล่าวว่า ด้วยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา (กอปภ.จ.พง) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่27 กรกฎาคม 2566 ถึง 1 สิงหาคม 2566 ว่าจะมีร่องมสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลมีคลื่นสูง 2-3เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง1-2เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร



โดยในพื้นที่จังหวัดพังงาให้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2566ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มต่ำไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันตามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วงจึงขอให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณภัยติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และดำเนินการ ดังนี้ 1.กรณีฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ให้ติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัย และดินโคลนถล่มได้



สำหรับสถานที่ ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณภัย ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้ง จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับพื้นที่ที่ มีสถานการณ์น้ำท่วมขังขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันทีกรณีคลื่นลมแรง ให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณภัย ออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลและแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด กรณีการเดินเรือ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ



โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด กรณีลมพัดแรงหรือพื้นที่เสียงเกิดวาตภัย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการและแจ้งประชาชนในการตรวจตรา ตัดแต่งต้นไม้หรือกิ่งไม้ที่อาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการหรือของประชาชนทั้งนี้ ขอให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณภัยเตรียมความพร้อมตามแผนเผชิญเหตุ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ พร้อมประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับชุมชน/หมู่บ้านในทุกช่องทางและหากเกิดสถานการณ์ขึ้นให้ดำเนินการตามหนังสือในราชการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา




แท็กที่เกี่ยวข้อง  พังงา ,น้ำท่วม ,คลื่นลมแรง

คุณอาจสนใจ

Related News