เลือกตั้งและการเมือง

นักกฎหมายวิเคราะห์เกมการเมือง เป็นความล้มละลายทางนิติศาสตร์ หลังสกัด 'พิธา'

โดย panwilai_c

20 ก.ค. 2566

159 views

มติที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากที่เห็นว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ไม่สามารถทำได้ตามข้อบังคับรัฐสภา ทำให้นักกฏหมายต่างออกมาไม่เห็นด้วยว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ และมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม เป็นการล้มละลายทางนิติศาสตร์ไทย ขณะที่นักรัฐศาสตร์ ก็มองว่าเป็นเกมการเมืองที่เป็นการรัฐประหารโดยรัฐสภา และเป็นการปิดสวิตซ์ฝ่ายประชาธิปไตย ผ่านเดดล็อกในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในที่สุด



การประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2566 ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมือง หลังที่ประชุมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมากว่าการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ไม่สามาถทำได้ตามข้อบังคับรัฐสภา ส่งผลให้ชื่อนายพิธา ตกไป พร้อมๆกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ สส.จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีหุ้นไอทีวี ทำให้นักกฎหมายต่างออกมายืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับมติของรัฐสภา เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่ญัติติในข้อบังคับการประชุม



พร้อมแนะทางออกให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือประธานรัฐสภาอาจใช้ดุลยพินิจตัดสินได้ว่าไม่ใช่ญัตติซ้ำ และมองสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นการล้มละลายทางนิติศาสตร์ และทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสิ้นหวังทางกฎหมาย



นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ เห็นตรงกันด้วยว่า มติที่ประชุมรัฐสภากำลังสร้างกับดักทางการเมือง ให้เกิดเดดล็อกในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่สุดท้ายจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากำลังทำให้เกิดรัฐประหารโดยรัฐสภา ยึดอำนาจการเลือกตั้งจากประชาชน



การเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ในวันที่ 27 กรกฏาคมนี้ จึงน่าจับตา เพราะหากใช้มติที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้อีก อาจเป็นการปิดสวิตซ์ฝ่ายประชาธิปไตย เพราะจากจำนวนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 9 คน ฝ่ายประชาธิปไตยเหลือเพียงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย 3 คน คือนายเศรษฐา ทวีสิน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติสิริ ส่วนฝ่ายขั้วอำนาจเดิมมี 5 คน ทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎฐ์



ทั้ง รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ และดร.สิติธร ธนานิติโชติ เห็นตรงกับ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ที่ระบุว่านี่ไม่ใช่นิติสงคราม แต่เป็นการล้างเผ่าพันธุ์ทางการเมือง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคอนาคตใหม่ และความพยายามในการยุบพรรคก้าวไกล แต่ประชาชนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วเช่นกันว่าไม่สามารถทำได้ และแสดงให้เห็นผ่านการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม ทำให้ยังเกิดการทำลายผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอันตรายมากในทางการเมืองกับการทำลายกลไกประชาธิปไตยที่เป็นหลักยึดสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ