ข่าวโซเชียล

ศึกเดือด! ‘แมวดำ’ ปะทะ ‘เด็กน้อย’ ชาวเน็ตงงไม่มีรอยข่วน แม่แจงถอดเล็บแมวออกแล้ว ไร้กังวล

โดย JitrarutP

7 ก.ค. 2566

596 views

สังเวียนเดือด! ศึก “แมวดำ” ปะทะ “เด็กน้อย” โลกโซเชียลแห่งง ตะปบขนาดนี้ทำไมไม่มีรอยข่วน ด้านแม่เด็กแจง ถอดเล็บแมวออกแล้ว ยืนยันไม่ใช่คนใจร้าย

กลายเป็นที่ตกใจในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างติ๊กต็อกและทวิตเตอร์ หลังผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่งโพสต์คลิปลูกของเธอเล่นกับแมวที่เลี้ยงไว้ พร้อมแคปชัน ‘Boxing match’ คอมเมนต์ของชาวเน็ตในช่วงแรกไปในทางที่ชมว่าน่ารัก แมวเอ็นดูเด็ก แต่ทิศทางของความเห็นชาวเน็ตเปลี่ยนไปหลังจากเจ้าของคลิปได้ตอบกลับคอมเมนต์หนึ่งว่า เด็กเล่นกับแมวตัวนี้มาตั้งแต่ก่อนที่แมวจะถูกถอดเล็บแล้ว



หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก จนเจ้าของคลิปนี้ปิดคอมเมนต์ของคลิปในติ๊กต็อก ทำให้ชาวเน็ตมาวิจารณ์เรื่องนี้ในทวิตเตอร์ ความเห็นเป็นไปในทางที่สงสารแมวถูกถอดเล็บ



ซึ่งหลังจากคลิปวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป เจ้าของคลิปจึงได้มาชี้แจงเพิ่มเติมว่า “ทุกคนใจเย็นก่อน แมวแค่เล่นกับเด็กเท่านั้นเอง แมวกับเด็กเล่นกันมาตั้งแต่ก่อนที่แมวจะถูกถอดเล็บออกด้วยซ้ำ ฉันไม่ใช่คนที่แย่นะที่นำแมวของฉันไปถอดเล็บออก แมวของฉันมีชีวิตที่ดีกว่าพวกเธอเกือบทุกคนและไม่ได้ทรมานจากการถูกถอดเล็บออกเลย และถ้าการถอดเล็บแมวมันโหดร้ายมาก สัตวแพทย์คงไม่ถอดเล็บให้แมวหรอก"


อย่างไรก็ตามการถอดเล็บแมวไม่ใช่การตัดเล็บธรรมดา แต่เป็นการตัดกระดูกข้อสุดท้ายของนิ้วแมวออก เทียบกับมนุษย์คือการตัดข้อสุดท้ายของนิ้วทุกนิ้วทิ้ง โดยกระดูกข้อสุดท้ายของแมวคือส่วนที่กรงเล็บของแมวงอกออกมา


การถอดเล็บแมวส่งผลให้พฤติกรรมของแมวเปลี่ยนไป การศึกษาหนึ่งเผยว่า แมวที่ถูกถอดเล็บจะฉี่เรี่ยราดมากกว่าแมวที่ไม่ได้ถอดเล็บถึง 7 เท่า มีแนวโน้มจะกัดคนมากกว่าถึง 4 เท่า จะก้าวร้าวกว่าแมวทั่วไป 3 เท่า จะเลียตัวเองมากเกินเหตุ (ทำให้ก้อนขนไปติดในกระเพาะ) มากกว่าแมวทั่วไป 3 เท่า จะมีอาการปวดหลัง (เพราะต้องเปลี่ยนท่าเดินหลังจากกระดูกปลายนิ้วถูกตัดออก) มากกว่าแมวทั่วไป 3 เท่า และมีอาการเจ็บปวดเรื้อรังที่อุ้งเท้า

หลายประเทศในสหภาพยุโรปสั่งห้ามถอดเล็บแมว แต่หลายรัฐในสหรัฐอเมริกายังทำกันปกติ แต่เริ่มมีเสียงค้านมากขึ้น ทำให้การถอดเล็บแมวผิดกฎหมายในเดนเวอร์ โคโลราโด และหลายเมืองในแคลิฟอร์เนีย



ด้าน รศ.น.สพ. ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้ความรู้เรื่องเล็บแมวว่า แมวเป็นสัตว์ที่ใช้เล็บในการเดิน ทรงตัว ปีนป่าย ล่าเหยื่อ จับเหยื่อ ต่อสู้ หากแมวไม่มีเล็บก็ไม่มีสิ่งที่ใช้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติอย่างการล่าเหยื่อ จับเหยื่อ ต่อสู้

การถอดเล็บแมวจะทำเฉพาะในกรณีที่มีปัญหาเรื่องโรค เช่น การติดเชื้อเรื้อรัง โรคที่จะทำให้เจ็บป่วยหรือพิการ เล็บยาวฝังเข้าไป หากเกิดสิ่งเหล่านี้ก็จำเป็นต้องทำเพราะเป็นการรักษาพยาบาล

ดังนั้น การที่ทำให้แมวเสียพฤติกรรมปกติ เสียอวัยวะโดยที่ไม่จำเป็น ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ เป็นสิ่งที่ไม่ทำโดยเด็ดขาด เพราะเป็นการทำให้สัตว์เสียสวัสดิภาพอย่างหนึ่ง



อ้างอิง:
https://www.the101.world/declawing/
https://vt.tiktok.com/ZSLDwYwxR/
https://vt.tiktok.com/ZSLDw1HGK/
https://twitter.com/tichaishappy/status/1676518906557759488





คุณอาจสนใจ