เลือกตั้งและการเมือง

“ส.ว.มณเฑียร” ย้ำจุดยืนโหวตนายกฯ ตามเสียงข้างมากส.ส. บอกปมมาตรา 112 ไม่เป็นเงื่อนไขให้ส.ว. ทุกคน

โดย paranee_s

6 ก.ค. 2566

2.2K views

ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันนี้ (6 มิ.ย.) มีการจัดเสวนา "เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน"


โดย เครือข่าย Respect My Vote เพื่อจับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองสมาชิกวุฒิสภา และนักวิชาการเข้าร่วมประกอบด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร จากพรรคประชาธิปัตย์, นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อ.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ซึ่งในประเด็นท่าทีจุดยืน ของ ส.ว. ต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.มณเฑียร บุญตัน แสดงจุดยืนของตนเอง ยืนยันว่าตนเองเห็นด้วยมาโดยตลอดกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้เคยเผลอคิดว่าจะต้องงดออกเสียงในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้


ซึ่งการงดออกเสียงเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว. ในเวอร์ชัน 1.0 เพราะเมื่อเงื่อนไขที่ ส.ว. ยังเป็นองค์ประชุมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ การงดออกเสียงก็เท่ากับการไม่ให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ดังนั้นตนจึงประกาศเปลี่ยนมาปิดสวิตช์ตัวเองในเวอร์ชัน 2.0 คือ โหวตตามหลักการเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็นการปิดสวิตช์ที่แท้จริง


ซึ่งก็เป็นหลักการเดียวกับการโหวตเลือก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 ดังนั้นการโหวตครั้งนี้ยืนยันว่าไม่ว่าแคนดิเดตจะเป็นใครก็จะใช้หลักการเดิม


ส่วนประเด็นแก้ไข มาตรา 112 ส.ว.มณเฑียร กล่าวว่า อาจจะมีเป็นเงื่อนไข กับ ส.ว. บ้าง แต่ตั้งแต่ปิดสมัยประชุมมา ส.ว. ก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันเป็นกิจจะลักษณะ อีกทั้ง ส.ว.ไม่ได้มีโครงสร้างที่ยึดตรึงเหมือนกับพรรคการเมือง ส่วนตัวจึงคิดว่าส.ว.มีความเป็นปัจเจกบุคคล แม้จะมีการพูดว่ามาจาก คสช. แต่วันนี้ คสช. ก็ไม่อยู่แล้ว กระบวนการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จากคสช.เมื่อปี 62 ก็จบสิ้นแล้ว จึงเป็นเรื่องยาก ที่จะบอกได้ว่าส.ว.มีความเห็นตรงกัน ว่าติดเงื่อนไขมาตรา 112 หรือไม่ เพียงแต่ที่ผ่านมา ส.ว. ที่ออกมาแสดงความเห็นอาจจะพูดจามีน้ำหนัก จึงกลายเป็นประเด็น ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่เป็นเงื่อนไขให้ ส.ว. ทุกคนคิดเหมือนกัน


นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เมื่อทราบผลการเลือกตั้ง และด้วยประสบการณ์ทางการเมืองของตน จึงเรียกร้องให้ส.ส. และส.ว. เคารพเสียงประชาชน หลังจากนั้นตนเสนอในพรรคประชาธิปัตย์ว่าในส่วนส.ส.ของพรรคให้โหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯ และให้รัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำได้เป็นรัฐบาล เพราะเป็นหลักการของระบบเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร


เพียงแต่รัฐธรรมนูญกำหนดว่านายกฯ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา คือต้องมีเสียง 376 เสียง เป็นอย่างน้อย ซึ่งการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลควรราบรื่นรวดเร็ว ไม่นำไปสู่จุดเสี่ยงในการเผชิญหน้าอีก หรือเลวร้ายที่สุดคือต้องไม่นำไปสู่การรัฐประหาร ครั้งนี้ต้องยอมรับว่าเสียงที่ประชาชนเลือกต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล


นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า หลักการหนึ่งที่ ส.ว. และ ส.ส. หลายคนไม่เข้าใจ ทุกรัฐธรรมนูญเขียนว่า ส.ส. และส.ว. คือผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่ยังไม่มีใครพูดหลักการที่ซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าส.ส. และ ส.ว. มีสิทธิอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงออกเสียงตรงมาว่าต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล เราไม่มีสิทธิไปขัดแย้ง ขัดขวาง เสียงตรงของประชาชน


ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นประชาธิปไตยสายตรงให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยเขาเลือก โดยผู้แทนปวงชนชาวไทยต้องปฏิบัติตาม การแข่งขันเรื่องนโยบายหรือจะโต้แย้งอะไรมันจบแล้ว เพราะประชาชนเลือกแล้ว ส.ส. และ ส.ว.ไม่มีสิทธิที่จะไปอ้างดุลยพินิจของตัวเองอีก


ส่วนหลักเสียงข้างมากในสภาฯ แม้ว่าต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่นายกฯ ต้องได้รับเสียงโหวตของสมาชิกรัฐสภา แต่ต้องยอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยของเราอยู่ในระบบรัฐสภา เสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย ดังนั้น ภายหลังการเลือกตั้งต้องให้สิทธิอันชอบธรรมกับพรรคอันดับหนึ่ง สอง และสาม ตามลำดับ ในการรวมตัวจัดตั้งรัฐบาล


ซึ่งครั้งนี้ 8 พรรค เขาได้ 312 เสียง ถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ สถานะของการโหวตนายกฯ จึงไม่ได้มีสถานะแค่แคนดิเดตนายกฯของพรรคก้าวไกล แต่เป็นแคนดิเดตนายกฯของรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาฯ ถ้าเราไม่ยอมรับผลการเลือกต้ง ถ้าเราไม่ยอมรับเสียงประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยสายตรงจะให้เลือกตั้งทำไม


ดังนั้น ถ้าบอกว่าเคารพในระบอบประชาธิปไตย เราก็ต้องเคารพหลักการเสียงของประชาชน ซึ่งไม่ใช่แค่คำพูดหรูๆ แต่เราต้องเข้าใจว่าเสียงของประชาชนคืออะไร เมื่อเป็นประชาธิปไตยสายตรงแล้ว คำว่าผู้แทนปวงชนต้องอยู่แถวสองไม่สามารถคัดค้านเสียงประชาชนได้


“เราต้องคำนึงหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติ การตั้งรัฐบาลจึงต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ส.ส.และส.ว.ต้องมีสปิริตประชาธิปไตย การยอมรับความพ่ายแพ้คือการเริ่มต้นของโอกาสในการแข่งขันใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้า หากการโหวตนายกฯ วันที่ 13 ก.ค.นี้ นายพิธาไม่ผ่าน ก็ต้องโหวตครั้งต่อไป หากไม่ผ่านอีกก็เป็นสิทธิของพรรคอันดับสองคือพรรคเพื่อไทย บ้านเมืองต้องเดินตามครรลองจึงจะเดินหน้าไปได้” นายอลงกรณ์ กล่าว


นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า หลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันว่าการโหวตนายกฯ เสียงส.ว.ไม่น่าจะพอ สิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ควรทำคือควรเปิดสวิตช์ให้ส.ว. ทำอย่างไรจะปลดเงื่อนไขข้ออ้างที่จะไม่โหวตให้ ตนอยากรู้เหมือนกันว่าถ้าพรรคก้าวไกลถอยไปข้างหน้า ยังเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย เห็นได้จากการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็คือการถอยไปข้างหน้า การเลือกนายกฯก็เช่นกัน


เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เรื่องการตั้งฐานทัพการแทรกแซง ให้พรรคก้าวไกลประกาศเลยว่าเรื่องนี้รอได้ ขอถอยเรื่อง 112 พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งฐานทัพ แบ่งแยกดินแดน โดยที่ทั้ง 8 พรรคเซ็นร่วมกัน หาเป็นแบบนี้วันที่ 13 ก.ค.นี้ ที่จะมีการโหวตนายกฯ ส.ว.จะมีข้ออ้างอะไรอีกที่จะไม่โหวตให้นายพิธา


นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า จุดยืนที่ชัดเจนเท่านั้นจะสร้างศรัทธาประชาชนได้ เราจึงต้องมีจุดยืนทางการเมืองชัดเจน ไม่สร้างความเกลียดชังในระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นสิทธิโดยชอบ แต่ต้องไม่รุนแรงหรือเรียกรัฐประหารมา 3 ป. พอได้แล้ว ควรปิดสวิตช์จริงๆ ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามา หลายประเทศผู้นำก็อายุน้อยโลกเปลี่ยนไปแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลง พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องเปลี่ยนเริ่มต้นเพื่อโอกาสใหม่


นายปริญญา กล่าวตอนหนึ่งว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องแสดงออกว่าส.ว.ต้องฟังเสียงประชาชนขอให้ส.ว.ฟรีโหวต ถ้าท่านอยากเป็นนายกฯ เพื่อพิสูจน์ว่าท่านจะเป็นนายกฯด้วยความสง่างามไม่ใช่เพราะส.ว. นี่คือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวท่านเอง ส่วนพรรคภูมิใจไทยถ้าดูจากการโหวตเลือกประธานสภาฯ เขาฟรีโหวต มีส.ส.งดออกเสียง 77 คน ส่วนใหญ่เป็นส.ส.ภูมิใจไทย ส่วนการโหวตนายกฯไม่ใช่เรื่องของนายพิธา หรือพรรคก้าวไกล แต่เป็นการโหวตตามหลักการในประชาธิปไตยให้เสียงข้างมากกับประชาชน ตนคิดว่ามีโอกาสที่เสียงจะถึง 376 เสียง ซึ่งพรรคก้าวไกลต้องสื่อสารกับส.ว. และ ส.ส.พรรคอื่นด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ