สังคม

อธิบดีกรมอุตุฯ แผ่นดินไหวพิษณุโลกไม่สร้างความเสียหาย ด้านทธ. ชี้สาเหตุ เกิดจาก"รอยเลื่อน"ที่ไม่เคยไหวในรอบ 100 ปี

โดย paranee_s

29 มิ.ย. 2566

402 views

วันนี้ (29 มิ.ย.) ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลง ณ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ในกรณีการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 00:17 น.


อธิบดีกรมอุตุฯ ระบุว่า มีจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว อยู่บริเวณ ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เป็นแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 4.5 ความลึก 5 กิโลเมตร ประชาชนสามารถรู้สึกสั่นไหวได้เป็นบริเวณกว้าง ในบริเวณจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และกำแพงเพชร


แผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 30 กิโลเมตร และห่างจากตัวเมืองพิจิตรประมาณ 15 กิโลเมตร ถือว่าจุดศูนย์กลางไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตัวเมือง ทำให้บ้านเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเสียหาย เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางที่ไม่ได้อยู่บนรอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) ที่สำรวจโดยกรมทรัพยากรธรณี ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นรอยเลื่อนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ (Hidden Fault) ต้องรอกรมทรัพยากรธรณีสำรวจละเอียดอีกครั้ง


ทั้งนี้กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้หากลไกการเกิดแผ่นดินไหว พบว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น เกิดจากแนวรอยเลื่อนที่มีทิศทางการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งวางตัวตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว


อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่าภัยแผ่นดินไหว ยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและความรู้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องการข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐาน


โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่ในการตรวจและวิเคราะห์แผ่นดินไหวทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวแบบอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง


นอกจากนี้ ทางเพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวขนาด 4.5 ที่ระดับความลึก 5 กิโลเมตร จุดเหนือศูนย์เกิดอยู่ บริเวณตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก สาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน (Hidden Fault) ซึ่งอยู่นอกเหนือจาก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง ที่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อนในรอบ 100 ปี


เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นมาก โดยแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และจังหวัดเลย สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วไป เบื้องต้นมีรายงานความเสียหาย พบผนังบ้านและโบสถ์ในพื้นที่บ้านราชช้างขวัญ หมู่ที่ 1 ตำบลปากทาง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เกิดรอยร้าวเล็กน้อย ซึ่งการรับรู้ดังกล่าวอยู่ ในความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับ 4 – 5 (เบา-ปานกลาง) ตามมาตราเมอร์คัลลี ที่คนส่วนใหญ่รู้สึกได้ คนที่นอนหลับตกใจตื่น หน้าต่างประตูสั่น ผนังห้องมีเสียงลั่น รถยนต์ที่จอดอยู่สั่นไหว ไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างหลักของสิ่งก่อสร้าง


ประวัติการเกิดเหตุแผ่นดินไหวในจังหวัดพิษณุโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2566 ขนาด 4-4.9 จำนวน 1 ครั้ง และขนาดเล็กกว่า 3 จำนวน 5 ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้และลดความตื่นตระหนกให้กับประชาชน กรมทรัพยากรธรณี โดยกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม และสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจ ตรวจสอบ และประเมินผลกระทบ และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวบริเวณโดยรอบเพื่อติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวตาม (aftershock) อย่างใกล้ชิด

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ