เลือกตั้งและการเมือง

“ชวน หลีกภัย” รายงานตัวเป็น ส.ส. สมัยที่ 17 ชี้ตำแหน่งประธานสภาฯ จะคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า ก็ไม่เป็นปัญหา

โดย paranee_s

23 มิ.ย. 2566

212 views

ที่อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินทางมารายงานตัว เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น ส.ส. ติดต่อกันสมัยที่ 17 โดย ทางอาคารรัฐสภาได้จัดบอร์ด นิทรรศการ เป็น ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งมากครั้งที่สุด และ ยาวนานที่สุด ใน สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26


ทั้งนี้นายชวน ได้ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงปัญหาตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ยังไม่ลงตัว ว่า เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายอาจไม่เคยเจอ โดยทั่วไปแล้วพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากจะได้เป็นประธานสภาและเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะในอดีตที่ผ่านมาพรรคที่มีเสียงมาก อันดับ 1 กับอันดับ 2 จะเป็นคนละฝ่ายกัน จึงไม่ค่อยเกิดปัญหามาแย่งตำแหน่งกัน


แต่คราวนี้ พรรคอันดับ 1 และ 2 เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้เกิดปัญหา ต่างฝ่ายต่างต้องการแยกตำแหน่งประธานสภา แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ กรณีหากใครได้เป็นประธานสภาแล้วจะได้เสนอกฎหมายของตัวเอง เพราะประธานสภาฯ จะต้องทำหน้าที่เป็นกลางตามรัฐธรรมนูญกำหนด


ด้วยประสบการณ์ 55 ปีของตนเอง ไม่ว่าประธานจะมาจากฝ่ายใดก็จะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่ยอมรับว่าในอดีตก็เคยมี 1 - 2 คน ที่ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง เนื่องจากรัฐบาลสั่งให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ปัจจุบันไม่เคยเห็น โดยเฉพาะการเอากฎหมายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมาพิจารณาก่อนทำไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นมติจากที่ประชุม


เมื่อเทียบเคียงว่าหากเป็นฝ่ายค้านแล้วจะเสนอกฎหมายยาก เมื่อเป็นรัฐบาลจะชดเชยแล้วเสนอกฎหมายเป็นร้อยฉบับก็สามารถทำได้ และสภาก็จะพิจารณาตามที่รัฐบาลขอ เช่น เรื่องด่วนก็ต้องนำมาพิจารณาก่อน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กฎหมายของฝ่ายค้านจะช้ากว่า แม้แต่กฎหมายการเงินก็เช่นเดียวกัน ประธานสภาไม่มีสิทธิ์ที่จะสั่งให้พิจารณาหรือรับรองให้ ต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอเข้ามาพิจารณา โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพราะจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยพิจารณาอยู่


ดังนั้นหากกังวลว่า ฝ่ายไหนเป็นประธานสภาแล้วจะเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนตัวคิดว่าทำได้ยาก เพราะมีกรอบเวลาในการเสนอกฎหมายอยู่แล้ว ประธานจะละเมิดกฎเกณฑ์ไม่ได้ พอมีฝ่ายคอยตรวจสอบอยู่


ทั้งนี้นายชวน ย้ำว่า กฎหมาย ม.112 ของพรรคก้าวไกลที่ไม่ถูกบรรจุในวาระการประชุมสมัยที่แล้ว เป็นความรับผิดชอบของนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานคนที่ 1 เพราะเห็นว่า มีบทบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ให้แก้ไขจึงส่งคืนให้แก้ไขไม่ได้หมายความว่าไม่รับ แต่ผู้เสนอญัตติรับกลับไปแล้วไม่ดำเนินการแก้ไข เมื่อไม่แก้ไขจึงไม่มีการบรรจุอยู่ในระเบียบวาระ ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติโดยทั่วไป ขณะที่กฎหมายประชาชนก็ได้รับการพิจารณาตามปกติ


พร้อมกันนี้นายชวน ยังกล่าวถึง การที่พรรคตั้งรัฐบาลจะเสนอ ส.ส.ที่มีอายุน้อยมาเป็นประธานสภา ว่า ไม่ว่าใครจะเข้ามา ทุกคนก็ต้องช่วยกัน ให้ความร่วมมือกับประธานสามารถทำงานต่อไปได้ แต่ที่สำคัญคือต้องรักษาระบบนิติบัญญัติให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ก็ตาม


ส่วนจะเสนอบุคคลต่างพรรคมาเป็นประธานสภาได้หรือไม่ นายชวน มองว่า แล้วแต่ที่ประชุมจะลงความเห็น ยกตัวอย่างเช่น พรรคประชาธิปัตย์ในสมัยที่แล้วก็เป็นพรรคอันดับ 4-5 ยังได้เป็นประธานสภา เพราะห่างจากการเลือกตั้งมานานจึงไม่มีใครมีประสบการณ์ ถึงมอบหมายให้ตนมาทำหน้าที่นี้โดยไม่กระทบ โควตารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์


นายชวน ย้ำว่าสุดท้าย ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม ทุกคนก็จะช่วยกันสนับสนุนงานของสภาให้เดินหน้าต่อไปได้ภายใต้ระบบประชาธิปไตยของรัฐสภา


ส่วนความคืบหน้าเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวนระบุว่าขอให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคที่จะพิจารณา โดยไม่ขอออกความเห็นเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ