สังคม
นพ.สมิทธิ์ เปิดใจปมมอนิติเวช โดนหมายจับ บอกเหมือนถูกกลั่นแกล้ง ลั่นไม่รู้เจตนาต้องการพยาน หรือจับกุม
โดย paranee_s
10 มิ.ย. 2566
1.3K views
จากกรณีของ เฟสบุ๊ก ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย โพสต์เกี่ยวกับเรื่องราวของแพทย์นิติเวชนายหนึ่งที่ต้องเจอปัญหาถูกหมายจับโดยที่ไม่รู้ตัวว่า เรื่องใหญ่ระดับหนึ่งเลยครับ อยากให้ช่วยแชร์ๆ กัน หมอเหมือนโดนกลั่นแกล้งจากระบบยุติธรรมครับ สรุปสั้นๆ “แพทย์โรงพยาบาลรัฐโดนหมายจับ เพราะมีหมายเรียกให้มาเป็นพยานในศาลกรณีคดีแพ่ง แล้วแพทย์ไม่ได้ไป โดยหมายเรียกถูกติดหมายที่บ้านซึ่งแพทย์คนนั้นไม่อยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายควรส่งไปโรงพยาบาลที่ถือเป็นภูมิลำเนาของข้าราชการ”
รายละเอียดตามนี้ครับ แพทย์ที่ทำงานเป็นข้าราชการในโรงพยาบาลของรัฐ ได้ตรวจผู้ป่วยแล้วออกใบชันสูตรบาดแผลให้ ต่อมาเป็นคดีความทางแพ่ง แพทย์ได้รับหมายเรียกของคดีนี้ ครั้งแรกหมายเรียกถูกส่งไปโรงพยาบาล แต่แพทย์ไม่ว่างไป จึงทำหนังสือแจ้งต่อศาลจนผู้พิพากษารับทราบแล้ว
แต่หมายเรียกอีกสองครั้ง กลับส่งแบบปิดหมายไปที่บ้านของแพทย์? ทั้งๆ ที่ครั้งแรกส่งไปโรงพยาบาล และตามกฎหมายจะถือว่าภูมิลำเนาของข้าราชการ ได้แก่ถิ่นอันเป็นที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่ (ประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 46) นอกจากนี้การส่งหมายเรียกครั้งที่3 ที่เป็นเหตุของการออกหมายจับต่อมา ยังปิดหมายผิดบ้านด้วย เพราะแพทย์ได้ย้ายออกจากบ้านที่ปิดหมายนั้นไปแล้ว แต่ทนายของโจทก์ในคดี ไม่คัดทะเบียนราษฎร์ก่อน แต่ใช้เอกสารเก่าที่มีอายุเกินกว่า 6 เดือน สุดท้ายแพทย์ก็โดนออกหมายจับในข้อหาจงใจขัดขืนไม่มาขึ้นศาล
ผมอยากถามว่าการกระทำแบบนี้ ถือว่าเป็นการให้หมายเรียกโดยชอบ จนออกหมายจับได้หรือไม่? แล้วมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องออกหมายจับว่าขัดขืนไม่มาศาลกับแพทย์ที่มีที่ทำงานชัดเจน เพื่อให้มาเป็นพยานในคดีแพ่ง?
สุดท้ายแพทย์ทราบว่าตนเองโดนหมายจับ ในขณะเดินทางกับลูกเพื่อออกนอกประเทศ แล้วติด ตม. ทำให้เดินทางออกไม่ได้ จนสูญเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางของทั้งครอบครัว เป็นแสน และโชคดีที่ ตม. ใจดี ไม่จับเข้าคุกด้วย
หลังจากทราบแล้ว แพทย์ได้ไปติดต่อกับทนายและศาล กลับไม่มีคำขอโทษใด ๆ จากทั้งสองฝ่าย และระหว่างเพิกถอนหมายจับ เจ้าหน้าที่ศาลยังพูดกับแพทย์ว่า “สมควรถูกออกหมายจับแล้ว เพราะรับหมายเรียก 3 ครั้งก็ไม่มา”
แล้วคดีนี้ แพทย์ที่โดนหมายจับไม่ได้มีคนเดียว มีแพทย์อีกคนที่ทำงานโรงพยาบาลเดียวกันโดนหมายจับด้วย แต่โชคดีที่แพทย์คนแรกทำการตรวจสอบจนพบว่าแพทย์อีกคนก็โดนหมายจับ (หมายเรียกไม่ได้ส่งไปที่โรงพยาบาลเช่นเดิม) ไม่งั้นแพทย์อีกคนก็ติดที่ ตม. เหมือนแพทย์คนแรก เพราะมีกำหนดเดินทางไปประชุมที่ ตปท. ในอีกไม่นาน
ผมเศร้าใจครับ สักวันแพทย์ที่ทำหน้าที่โดยปกติ อยู่ดี ๆ อาจโดนหมายจับ โดยไม่มีความจำเป็นแบบนี้ อยากเรียกร้องไปถึงสภาทนายความ กับ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยครับ
ทีมข่าวได้ติดต่อไปที่แพทย์หญิงท่านนี้ บอกว่ายังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ แต่ได้ให้ข้อมูลกับทางนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทยไปหมดแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาทนายความฯ, คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม, อธิบดีศาลแพ่งธนบุรี และแพทยสภา เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้
ต่อมาจึงติดต่อไปที่ ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ก็โพสต์ถึงเรื่องนี้ โดยบอกว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่หมอเหมือนโดนกลั่นแกล้งจากระบบยุติธรรม อยากให้มีการตรวจสอบ
พร้อมระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับแพทย์นิติเวชรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ชันสูตรบุคคลหนึ่ง แล้วบุุคคลนี้ มีการฟ้องร้องกับบริษัทประกัน เป็นคดีแพ่ง หลังจากนั้นหมอท่านนี้ก็ถูกเรียกไปเป็นพยานในชั้นศาล ซึ่งในครั้งแรกนั้นเจ้าหน้าที่มาพบที่โรงพยาบาล แต่ถ้าหมอติดภารกิจและเซ็นเอกสาร จึงทำรายละเอียดการชันสูตร ส่งเรื่องไปถึงอัยการให้รับทราบ และระบุเหตุผล เป็นแพทย์ทำงานที่โรงพยาบาลติดภารกิจในการทำงาน
หลังจากนั้นก็เข้าใจว่าเรื่องนั้นจบไปหรือหากต้องการข้อมูลเพิ่มให้ติดต่อมาที่รพ. มาพบหมอได้โดยตรง แต่ไม่มี แพทย์จึงเข้าใจว่าจบ แต่ต่อมากลับพบว่ามีหมายเรียกมาที่บ้าน ซึ่งเป็นทะเบียนบ้านเก่าไม่ได้อาศัยอยู่บ้านหลังนี้นานแล้ว ทำให้แพทย์คนนี้ไม่รู้เรื่องหมายเรียก
จนกระทั่งไปแจ้งเรื่องย้ายทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบันในระบบทะเบียนราษฎร์ ก็มาพบว่าหมายที่ 3 ส่งไปที่บ้านหลังที่ 2 เหมือนเดิม
จึงทำให้นายแพทย์ท่านนี้ไม่รู้เรื่องว่าตนเองถูกหมายจับจนกระทั่งจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อท่องเที่ยวกับลูกก็พบว่าติดด่านตม.มีหมายจับเนื่องจากไม่ยอมไปเป็นพยานในชั้นศาล
“กรณีนี้แพทย์นิติเวชมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะแพทย์ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลเจ้าหน้าที่รู้อยู่แล้วว่าอยู่ที่ไหน. หรือจะอ้างว่าย้ายโรงพยาบาลก็สามารถติดต่อได้เพราะเป็นแพทย์นิติเวช”
อีกทั้งแพทย์นิติเวชท่านนี้ได้ทำหนังสือไปถึงอัยการแล้วเกี่ยวกันกับการชันสูตรหรือเกี่ยวข้องกับคดีนี้ถ้าให้ทำรายงานไปทั้งหมดแล้วแต่กลับต้องถูกหมายจับโดยไม่รู้ตัวจึงถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
อีกทั้งครั้งแรกเจ้าหน้าที่นำหมายมาส่งให้ที่โรงพยาบาลและมีการพูดคุยกันแต่ทำไมครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 จึงไม่มาส่งที่โรงพยาบาลเหมือนเดิมจึง “ไม่เข้าใจเจตนาว่าต้องการจะให้หมอเป็นพยานหรือต้องการจะออกหมายจับหมอ”
พร้อมบอกว่าปกติแล้ว แพทย์นิติเวชมักถูกเรียกไปเป็นพยานในศาลเป็นประจำอยู่แล้ว แต่หมายเรียกจะถูกส่งไปที่โรงพยาบาลตลอด เพิ่งมีกรณีนี้ที่ส่งหมายเรียกไปที่บ้าน จึงอยากให้ตรวจสอบว่า ทำไมจึงเปลี่ยนที่อยู่ที่ส่งหมายเรียก และมีความจำเป็นขนาดไหนที่ต้องออกหมายจับ เพราะคุณหมอถูกเรียกไปเป็นพยานในคดี ไม่ใช่จำเลย ไม่ได้คิดจะหนีอยู่แล้ว และแม้ข้อหาที่ถูกออกหมายจับจะเป็นข้อหาเล็กน้อย สามารถขอเพิกถอนหมายจับได้ แต่การที่คุณหมอไม่รับทราบมาก่อนว่ามีหมายจับ ก็ทำให้เกิดความเสียหาย ต้องยกเลิกการเดินทางกะทันหัน เสียเงินหลักแสนบาท
หลังจากกรณีนี้ทางสมาคมแพทย์นิติเวชจะมีการประชุมเพื่อหาทางออกไม่ให้แพทย์นิติเวชที่ได้ทำงานอย่างสุจริตไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องคดีต้องกลายมาเป็นผู้ต้องหาที่โดนหมายจับ
ทั้งนี้เชื่อว่ายังมีแพทย์อีกหลายคนอาจจะโดนลักษณะดังกล่าวอีกจึงอยากขอร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝากช่วยพิจารณาและเข้าใจการทำงานของแพทย์นิติเวชด้วย
นอกจากนี้ทีมข่าวสอบถามไปยัง นายประเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส ได้ให้ความเห็นว่า ปกติแล้วการออกหมายเรียกพยาน ต้องมีฝ่ายโจทก์หรือจำเลยเป็นผู้ร้องขอต่อศาลให้เรียกแพทย์มาให้การโดยละเอียด ศาลจึงจะออกหมายเรียก ซึ่งต้องดูว่าแพทย์ได้รับหมายเรียกหรือไม่ หากยืนยันได้ว่าได้รับหมายเรียกแล้วไม่มาขึ้นศาล จึงจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170 ขัดขืนหมายหรือคำสั่งของศาล ซึ่งปกติหากเป็นพนักงานอัยการจะไม่ขอออกหมายจับ แต่จะประสานงานแจ้งแพทย์อีกครั้ง แต่ในกรณีนี้ ฝ่ายที่ร้องขอให้เรียกแพทย์มา อาจร้องขอให้ศาลออกหมายจับ
ทั้งนี้ ในการที่จะขอศาลให้ออกหมายจับนั้น ต้องดูว่าการส่งหมายเรียกได้ส่งโดยชอบหรือไม่ หรือมีคนยืนยันว่าแพทย์ได้รับหมายเรียกแล้วแต่จงใจไม่มาหรือไม่ ซึ่งทนายความฝ่ายที่ร้องขอต่อศาลให้ออกหมายจับ อาจต้องรับผิดชอบด้วย หากการออกหมายจับแพทย์ทำโดยมิชอบแล้วทำให้เกิดความเสียหาย
แท็กที่เกี่ยวข้อง