สังคม

"สมจิตร" ชี้การเลื่อนขั้นสำหรับนักกีฬาทหาร มีหลักเกณฑ์ควบคุมชัดเจน

โดย paranee_s

9 มิ.ย. 2566

2K views

พันโทสมจิตร จงจอหอ ดารานักแสดง อดีตนักกีฬามวยสากลสมัครเล่น เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก , เหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2 สมัย เหรียญทองซีเกมส์ 3 สมัย และได้รับเกียรติให้เป็นผู้เชิญธงชาติไทย ในพิธีปิดโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 26 หรือ โอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ระบุถึงกรณีที่นักกีฬาทีมชาติ ที่เข้ามารับราชการทหารว่า เป็นเรื่องดีที่นักกีฬาที่ติดทีมชาติ ได้รับโอกาสให้บรรจุเข้ารับราชการเพื่อไปเล่นให้กับสโมสรต่าง ๆ ของกองทัพ หรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ


แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ตัวนักกีฬาคนนั้น ๆ ด้วยว่าจะสามารถทำผลงานให้ดีขึ้นได้หรือไม่ รวมถึงมีการทำผลงานให้กับหน่วยงานที่ตนเองสังกัดอยู่หรือไม่ หรือมีการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานทหารเพิ่มเติมหรือไม่


ซึ่งทั้งหมดจะมีผล เกี่ยวกับหน้าที่การงานโดยตรง การเลื่อนขั้นของหน่วยงานทหารและหน่วยงานตำรวจจะมีความแตกต่างกัน เพราะเป็นลักษณะโครงสร้างองค์กรที่แตกต่างกัน ในส่วนของตนเองที่สังกัดอยู่ในกองทัพ ก็มีระเบียบข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องของการคลองยศอย่างชัดเจน


ในหน่วยงานทหารจะมีความชัดเจนในเรื่องของระยะเวลาในการคลองยศต่าง ๆ ตามลำดับขั้น ซึ่งทุกลำดับขั้นจะมีการเรียนและสอบเพื่อเลื่อนขั้นไปตามขั้นตอน โดยตนเองเริ่มต้นในชีวิตข้าราชการทหารจากการเป็นอาสาสมัครทหารพราน อยู่ 2 ปี ก่อนขยับเป็น สิบตรี ก่อนจะครองยศอีกหลายปี จึงขยับเป็นสิบโท และสิบเองตามลำดับขั้น


ขณะที่ในเวลาต่อมาตนเองมีโอกาสได้ไปต่อยในกีฬามวยทหารโลก และสามารถชนะเหรียญทองกลับมาได้ ซึ่งในส่วนของกองทัพมีข้อกฎหมายในส่วนนี้ว่าหากนักกีฬาคนใดสามารถไปชนะรายการกีฬามวยทหารโลกได้ ก็จะสามารถติดยศเป็นข้าราชการทหารชั้นสัญญาบัตรในยศร้อยตรีได้ ซึ่งตนเองได้เหรียญทองจึงเข้าเงื่อนไขนี้ รวมถึงตนเองยังจบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี จึงได้คลองยศร้อยตรีสมจิตร และครองยศต่อมาอีกหลายปี กว่ามาถึงยศร้อยเอก


ในช่วงนี้ก็ได้ไปต่อยโอลิมปิก จนได้เหรียญทอง และหลังจากยศร้อยเอกก็ คลองยศมาอีกแปดปีกว่าจะได้เลื่อนขั้นเป็น พันตรี นับเวลารวมที่ตนเองรับราชการมา 27 ปี นับตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน ที่ประดับยศ "พันโท" ซึ่งเลื่อนยศขึ้นมาเมื่อปี 2565


ขณะที่ในส่วนของประเด็นที่มี 2 อดีตนักกีฬามวยสากลสมัครเล่น ทีมชาติ คือ มนัส บุญจำนงค์ และ วรพจน์ เพชรขุ้ม ที่ปัจจุบันรับราชการทหารเช่นเดียวกันมีการออกมาเปิดประเด็นเกี่ยวกับการเลื่อนชั้นยศ หลังจากที่มีกระแสข่าวของการเลื่อนขั้นของนายตำรวจหญิงคนหนึ่งที่กำลังเป็นประเด็นในสังคม ว่า ทั้งสองเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจในเรื่องของการเลื่อนขั้น ในประเด็นนี้ พันโทสมจิตร ระบุว่าคงต้องกลับไปดูว่าทั้งสองได้มีการเข้าอบรมหรือเข้าไปเรียนในหลักสูตรของทางทหารตามขั้นตอนหรือไม่ เช่นหลักสูตรนายร้อย หลักสูตรนายพัน หรือหลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสายทหาร เพิ่มเติมด้วยไหม หรืออาจจะอยู่กับวงการมวยมาตลอด โดยที่ไม่ได้มีการไปเรียนเพิ่มเติมทางด้านการทหาร หรืออาจจะไม่ได้มีการติดต่อหรือกลับไปอยู่กับทางต้นสังกัดเลย อยู่แบบลักษณะการช่วยราชการในตำแหน่งที่ไม่ได้ทำงาน หรือไม่


ตนเองไม่ทราบรายละเอียดในข้อนี้ แต่ในส่วนของตนเองมีการติดต่อกับทางหน่วยอยู่ตลอดและมีการไปช่วยงานของทางหน่วย ทำให้ผู้บังคับบัญชาเห็นหน้ากันอยู่ประจำ


ซึ่งในส่วนของนักกีฬาทีมชาติที่มารับราชการจะมีอยู่ 2 ประเภทคือประเภทที่บรรจุเป็นข้าราชการ และไปอยู่ในวงการกีฬาเต็มตัว ก็จะอยู่ในลักษณะของการช่วยราชการในตำแหน่งที่ไม่ได้ทำงาน กับอีกส่วนคือส่วนที่เข้ามารับราชการและช่วยงานในหน่วยที่ตนเองสังกัดอยู่ ซึ่งจะมีผลเกี่ยวกับการเลื่อนชั้นยศที่แตกต่างกันจากทั้ง 2 ลักษณะที่ว่ามาอย่างชัดเจน


ตนเองมองว่าสำหรับหน่วยงานข้าราชการ โดยเฉพาะทหาร ถือว่ากฎเกณฑ์ในการเลื่อนชั้นยศในปัจจุบันก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว ไม่มีการก้าวกระโดดแบบองค์กรอื่นๆ เพราะต้องมีขั้นตอนทางการเรียนการสอบเพื่อเลื่อนขั้นอย่างชัดเจน ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีหลักเกณฑ์ควบคุม

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ