สังคม

ทนาย แฉวิธีรีด "ส่วยรถบรรทุก" ของตำรวจภูธรภาคตะวันออก

โดย paranee_s

31 พ.ค. 2566

267 views

นายชำนัญ ทนายความอิสระ ที่เคยทำคดีเกี่ยวกับส่วยรถบรรทุก จนทำให้ตำรวจถูกตัดสินจำคุก ต้องออกจากราชการ เนื่องจากพบความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ เปิดเผยกับทีมข่าวว่า คดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้วในพื้นที่จังหวัดชลบุรี สถานีตำรวจภูธรท้องที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีผู้ประกอบการร้องเรียนมาว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานีตำรวจภูธรแห่งหนึ่ง มักจะตั้งด่านจับรถบรรทุก และเสนอให้จ่ายส่วยรายเดือน แลกกับการไม่ต้องถูกดำเนินคดี


ซึ่งเมื่อเข้าไปตรวจสอบ ก็พบว่าเป็นเรื่องจริง โดยตำรวจจะตั้งด่านตรวจและเรียกรถบรรทุกที่วิ่งผ่าน แม้ว่าจะเป็นรถที่ไม่ได้กระทำความผิด แต่ตำรวจก็จะพูดกดดัน หาความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ เช่น ไฟหน้ารถไม่ติด และจะพยายามขอคุยกับเถ้าแก่ หรือผู้ประกอบการ เพื่อเสนอว่า หากไม่อยากรำคาญใจกับเรื่องจุกจิกต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ให้จ่ายเงินเป็นรายเดือนให้แล้ว ตำรวจจะคอยอำนวยความสะดวกให้ได้ตลอดเส้นทางชลบุรี-ระยอง ทั้งวิ่งเลนขวาได้, วิ่งเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้, บรรทุกน้ำหนักเกินได้ หรือหากเป็นความผิดที่ไม่สามารถปล่อยผ่านได้ เช่น ฝ่าไฟแดง ก็จะมีการเขียนใบสั่งไปก่อนแล้วค่อยไปช่วยเคลียร์ให้ทีหลัง


โดยวิธีการชำระส่วย ก็มีทั้งแบบใส่ซองไปให้ที่โรงพัก และโอนเงินเข้าบัญชี ซึ่งเป็นบัญชีของภรรยานายตำรวจที่เรียกรับเงิน โดยจากการตรวจสอบสเตทเมนต์บัญชีดังกล่าว พบว่า ในหนึ่งวันมีเงินโอนเข้าบัญชีกว่า 10 ครั้ง แต่ละครั้งจำนวนเงินไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 1,500 บาทไปจนถึง 7-8 พันบาท แต่เฉลี่ยแล้วในหนึ่งเดือนมีเงินเข้าหลายหมื่นบาท


ส่วนรูปแบบสัญลักษณ์ จะไม่ใช่สติกเกอร์ แต่จะใช้เป็นป้ายรถชื่อบริษัท และเป็นที่รู้กันว่าบริษัทไหนจ่ายแล้วบ้าง ซึ่งมีทั้งบริษัทที่ทำผิดเยอะจริง จึงจ่ายเพราะคุ้มกว่า กับบริษัทที่จ่ายเพื่อตัดความรำคาญ ไม่ให้มาโดยหาเรื่องจับจากความผิดจุกจิก


ทั้งนี้ ตำรวจที่เรียกรับเงินนายดังกล่าวไม่ได้ให้การซัดทอดไปยังใครต่อ แต่ภรรยาที่เป็นเจ้าของบัญชี ก็บอกกับตนว่า เงินทั้งหมดที่ได้ ไม่ได้เก็บไว้กับตนเองเลย แต่ส่งให้กับผู้บังคับบัญชาหมด แต่ต้องรับผิดเองคนเดียว และเชื่อว่ายังมีนายตำรวจคนอื่น ๆ ที่ต้องทำลักษณะเดียวกัน อาจมีจำนวนเงินที่ได้จากจุดนี้มหาศาล


อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องส่วยรถบรรทุก ตนมองว่า ต้องแก้ที่ตำรวจให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีการลงโทษที่ชัดเจน บังคับใช้กฎหมายให้เหมาะสม และไม่ใช้ดุลพินิจเกินควรในการดำเนินคดีเพื่อสร้างอำนาจต่อรองนำไปสู่การเรียกรับผลประโยชน์ นอกจากนี้ ยังต้องแก้ที่เชิงระบบ รัฐบาลควรสนับสนุน เช่น เอาเงินที่จะจ่ายเป็นส่วย มาพัฒนาถนน ให้รับน้ำหนักบรรทุกได้มากขึ้น ก็จะแก้ปัญหาระยะยาวได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ