สังคม

ญาติติง รพ. พลาดจ่ายยาสระผมแทนยาแก้ไอ ผู้ป่วยวัย 66 กินเข้าไป ขมจึงบ้วนทิ้ง

โดย weerawit_c

28 พ.ค. 2566

91 views

เภสัชกรโรงพยาบาล พลาดจ่ายยาสระผมให้ผู้ป่วย แทนยาแก้ไอ ผู้ป่วยสูงอายุรับประทานไปรู้สึกแปลก ขม แถมมีฟองฟอด จึงบ้วนทิ้ง ญาติออกมาติง โรงพยาบาล ควรรอบคอบกว่านี้ เพราะมันอันตราย


ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความ ตำหนิการทำงานของบุคลากรในโรงพยาบาล จ่ายยาให้คนป่วย หน้าซองเขียนยาแก้ไอมะขามป้อม แต่ในซองเป็นแชมพู อยากให้ทำงานระมัดระวัง มีผู้เข้าแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เช่น แชมพูไปอยู่ห้องยาได้ไง ตอนจ่ายยาคงแต่มัวคุยเม้ามอย เลยไม่ได้ดู และอันตรายนะคะ ถ้าเค้าอ่านหนังสือไม่ออก หลงกินเข้าไปแย่เลย รวมถึงบอกว่า แปลกมากที่หลุดมาได้ ปกติตอนไปรับยา เภสัชต้องดูยาทุกครั้ง ก่อนยื่นให้คนไข้ และอธิบายวิธีกินยา เป็นต้น


เรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยังผู้โพสต์ ทราบชื่อคือ พระคมสันต์ อายุ 39 ปี ซึ่งเป็นลูกของผู้ป่วย คือ นางสคราญ อายุ 66 ปี ปกติแม่จะไปโรงพยาบาล เพื่อรับยาแก้ไอ มารับประทานตลอด แต่ครั้งนี้กลับได้แชมพู มารับประทาน แทนยาแก้ไอ โชคดีที่ทานไปแค่ช้อนเดียว แล้วสงสัยในรสชาติ จึงบ้วนทิ้ง


นางสคราญ ผู้ป่วย เล่าว่า เป็นโรคหืดหอบเรื้อรัง เคยผ่าตัดลิ้นหัวใจตีบ หมอจะนัด 3-4 เดือน ครั้ง ล่าสุดที่ได้รับยามา หน้าซองถุงพลาสติกก็ระบุ เป็นยาแก้ไอ ตอนที่ทานเห็นฝายาสีแปลกไปจากเดิม นึกว่าทาง รพ.เปลี่ยนฝาแบบใหม่ เลยไม่ได้สังเกตที่ตัวขวด จึงทานไปเพราะความเคยชิน แต่พอน้ำยาเข้าปาก รู้สึกถึงรสขม ออกร้อน จึงบ้วนทิ้ง


ด้าน พระคมสันต์ บอกว่า ที่โพสต์เพราะอยากให้เป็นอุทาหรณ์ เท่านั้น พร้อมนำตัวอย่าง ขวดยาแก้ไอ และขวดแชมพูสระผม มาเปรียบเทียบให้ดู มีการเทน้ำยาทั้ง 2 ชนิด ลงในถ้วย เพื่อทำการเปรียบเทียบ พระคมสันต์ บอกอีกว่า เจ้าหน้าที่จัดยา น่าจะตรวจดูให้ดีก่อน ตอนผู้ป่วยไปรับยา เภสัชต้องอธิบาย แต่นี่จ่ายยามาให้ ไม่ได้บอก ซึ่งแม่ที่ป่วยก็เชื่อใจ จึงทานเข้าไป ไม่อยากเอาเรื่อง แต่อยากให้ทางโรงพยาบาล รอบคอบกว่านี้


ในเวลาต่อมา นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ ผอ.โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เดินทางมาพบกับผู้ป่วยที่บ้าน พร้อมทั้งนำยาแก้ไอ มาเปลี่ยนให้ และอธิบายวิธีใช้ยาแก้ไอ รวมถึงขอโทษผู้ป่วย กับญาติ


ผอ.โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ยอมรับว่า ยาน้ำมีลักษณะใกล้เคียงกัน จึงมีการสลับขวดกัน ทางเภสัชกรได้ทราบแล้ว จะไปทำการแยกประเภท ขวดสี ลักษณะสี โดยปกติยาทั่วไป จะมีสติ๊กเกอร์ยาอยู่แล้ว ซึ่งจะเพิ่มความเข้มงวดในการแปะสติ๊กเกอร์ยา การแยกตู้ประเภทยา ทางโรงพยาบาลพร้อมจะปรับปรุงแก้ไข

คุณอาจสนใจ