สังคม

"เรืองไกร" ร้องอีกแล้ว ยื่น กกต. ตรวจสอบ MOU จัดตั้งรัฐบาล

โดย nutda_t

24 พ.ค. 2566

25 views

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อให้ตรวจสอบว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล หรือ MOU ที่ลงนามโดยพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีก 7 พรรค เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 21, 28 และข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ 40 ซึ่งอาจจะส่งผลให้ พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค ขาดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จนถึงขั้นถูกยุบพรรค ตามมาตรา 92 (3) หรือไม่


โดย นายเรืองไกร กล่าวว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตนเห็นข้อความหนึ่งของการทำ MOU ทั้ง 8 พรรคนั้น ระบุว่าทุกพรรคการเมืองมีสิทธิ์ผลักดันนโยบายอื่นๆ เพิ่มเติม โดยไม่ขัดไปจากนโยบายที่อยู่ใน MOU ไม่ว่าจะเสนอผ่านอำนาจฝ่ายบริหาร หรือนิติบัญญัติก็ตาม ตนมองว่านี่เป็นการผูกมัดบีบให้พรรคการเมือง ทั้ง 7 พรรค อยู่ภายใต้การครอบงำชี้นำของพรรคก้าวไกลหรือไม่ ภายใต้ข้อบังคับตาม MOU ดังกล่าว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมส่งผลให้พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ที่ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมไม่อยู่ในความผูกมัดหรือครอบงำใด ๆ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 ที่บัญญัติชัดเจนว่า ห้ามพรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการอันใด อันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำพรรคการเมือง จนทำให้พรรคการเมืองนั้นขาดความเป็นอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงย่อมส่งผลให้พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคนั้นถูกยุบพรรคได้ ตามความในมาตรา 92 (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560


นอกจากนี้ ตนเห็นว่า การทำ MOU ดังกล่าวนั้น ไม่มีกฎหมายใดรองรับและหัวหน้าพรรคก้าวไกล คือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แม้จะเป็นพรรคที่มีเสียงอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่มีอำนาจในการทำ MOU แต่อย่างใด โดยยกข้อบังคับพรรคก้าวไกลข้อ 40 ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าพรรคมากล่าวอ้าง ซึ่งไม่มีระบุไว้ว่าหัวหน้าพรรคมีอำนาจ ในการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับพรรคอื่น ๆ แต่อย่างใด


ด้วยเหตุนี้ ตนจึงเห็นว่าบันทึก MOU ที่ลงนามเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม อาจจะขาดกฎหมายรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของพรรคดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น จึงมีเหตุอันควรให้ กกต. ดำเนินการวินิจฉัยตรวจสอบโดยเร็ว โดยผลร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากกรณีขัดกฎหมายนี้ จะส่งผลให้ทั้ง 8 พรรคการเมืองที่ลงนามใน MOU ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้ ฉะนั้น จึงอยากให้ กกต. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและความถูกต้องของ MOU ฉบับดังกล่าวด้วย


ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายเรืองไกร ว่าบันทึกดังกล่าวนั้น ไม่ใช่บันทึกที่มีผลเป็นการครอบงำชี้นำพรรคร่วมทั้ง 7 พรรคแต่อย่างใด แต่เป็นความตกลงที่ทั้ง 8 พรรคมาพูดคุย เพื่อทำความเข้าใจในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น นายเรืองไกร กล่าวว่า แล้วทั้ง 8 พรรคนั้นก็มีการพูดคุยกันมาก่อนแล้วใช่หรือไม่ และยินยอมให้มีการแก้ไข MOU บางข้อ เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องการ คือการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและทำตามนโยบายภายใต้พรรคก้าวไกล ทำให้ตนมองว่า นี่คือการครอบงำหรือชี้นำ 7 พรรคที่เหลือ แต่สุดท้ายผลการตรวจสอบก็ขึ้นอยู่กับทาง กกต. ตนไม่ใช่ผู้ชี้ขาดว่าทั้ง 8 พรรคทำผิดกฎหมาย


ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงเจตนารมณ์ของนายเรืองไกร ที่มายื่นให้ กกต.ตรวจสอบ MOU ของ 8 พรรคการเมือง รวมไปถึงกรณีการตรวจสอบหุ้นสื่อของนายพิธา ว่าเป็นเพียงแค่ให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายหรือจงใจที่จะก่อให้เกิดอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งหรือไม่ นายเรืองไกร ได้ยกธรรมะมากล่าวอ้างว่า หากเกิดแผลก็ต้องย่อมรักษา หากเกิดแผลก็ต้องดูแล เช่นนั้น หากเกิดข้อสงสัยใด ๆ ที่อาจจะขัดต่อข้อกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ก็เป็นหน้าที่ของตนในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการยื่นตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ผ่านมา ตนก็เคยยื่นตรวจสอบทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมาหลายครั้ง แม้กระทั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ตนก็เคยยื่นให้ตรวจสอบหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง วาระ 8 ปี แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครสนใจและมองข้าม พอครั้งนี้ตนตรวจสอบนายพิธาและพรรคก้าวไกล ก็มาหาว่าตนรับงานหรือมีเจตนาก่อนิติสงคราม ตนมีเพียงเจตนาในการตรวจสอบตามสิทธิของรัฐธรรมนูญหากพบว่าการกระทำใดมีข้อสงสัยว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น


นอกจากนี้ นายเรืองไกร ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือหุ้น บริษัท ITV รวม 2 รายการ ประกอบด้วย ตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2566 พร้อมเอกสารประกอบ และตารางรายได้รวมของ ITV ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2565 พร้อมเอกสารประกอบ (ยกเว้นปี 2555)


โดยหลักฐานที่จะยื่นเพิ่มเติมในวันนี้ น่าจะช่วยทำให้ กกต. พิจารณาได้เร็วขึ้น และคาดว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้าข่ายมีขาดคุณสมบัติต้องห้ามลงรับสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) หรือไม่


โดย นายเรืองไกร กล่าวว่า หลักฐานที่นำมายื่นในวันนี้นั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า ปรากฎนายพิธาชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทไอทีวี ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2550 ยังปรากฏเป็นชื่อของบิดานายพิธาอยู่ อีกครั้งข้างหลังชื่อของนายพิธาในรายชื่อผู้ถือหุ้นนั้น ไม่ได้ระบุว่านายพิธาเป็นผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด รวมทั้งผลประกอบการตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2565 ที่ตนนำมายื่นนั้น ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า บริษัทไอทีวียังมีผลประกอบการของบริษัทอยู่ ต่อให้อ้างว่าบริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว แต่ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งบริษัทคือการประกอบธุรกิจสื่อ จึงอยากให้ทาง กกต. เร่งดำเนินการตรวจสอบ เพราะอาจจะทำให้นายพิธาไม่สามารถเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ