สังคม

ชายวัย 83 แพ้ยาย้อมผมยี่ห้อดัง แสบร้อนหัว ตาบวมจนลืมไม่ขึ้น

โดย nutda_t

27 เม.ย. 2566

1.6K views

ที่สำนักงานทนายความคู่ใจ ถ.แจ้งวัฒนะ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายบุญสี อายุ 83 ปี พ่อค้าขายเสื้อผ้ามือสอง เดินทางเข้าร้องเรียนกับทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เพื่อขอให้ช่วยเหลือ หลังซื้อยาย้อมผมยี่ห้อดังเจ้าหนึ่ง ที่ร้านสะดวกซื้อ เมื่อนำกลับมาใช้แล้วเกิดอาการแพ้ มีผื่นแดง ปวดแสบปวดร้อนขึ้นตามลำคอ หนังศีรษะ และบริเวณรอบดวงตาทั้ง 2 ข้าง จนตาบวมปิด ไม่สามารถลืมตาได้ จนต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล แพทย์บอกว่าเกิดจากการแพ้สารเคมี โชคดีที่รีบมาพบแพทย์ได้ทัน มิเช่นนั้นอาจทำให้ตาบอดได้ หลังรักษาตัวกว่า 10 วัน จนอาการดีขึ้น ได้ติดต่อไปที่บริษัทยาย้อมผมยี่ห้อดังกล่าว แต่ได้รับคำตอบว่าจะช่วยเหลือแค่เพียงค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 2,000 บาทเท่านั้น จึงตัดสินใจเข้ามาร้องเรียนกับทางทนายให้ช่วยเหลือในเรื่องคดี เพราะตนมองว่าบริษัทยาย้อมผมไม่ยอมรับผิดชอบ ตนต้องเจ็บตัว แถมเสียเวลาทำมาหากิน แต่กลับได้รับการดูแลแค่นี้



นายบุญสี กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 66 ตนได้ไปตัดผมที่ร้านประจำ ก่อนจะปรึกษากับช่างตัดผมว่าควรจะใช้ยาย้อมผมยี่ห้อไหนที่ใช้ดี ทางร้านจึงแนะนำตนว่าให้ลองใช้ยี่ห้อดังกล่าว ตนจึงได้ไปซื้อที่ร้านสะดวก โดยทำตามวิธีที่เขียนบอกเอาไว้ที่ผลิตภัณฑ์ทุกอย่าง หลังทำการย้อมเสร็จ ก็ไม่มีอาการอะไร จนกระทั่งตนเข้านอน รู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่บริเวณหนังศีรษะและท้ายทอย แต่ตนไม่ได้สนใจอะไร กระทั่งรุ่งเช้าพบว่าตนลืมตาไม่ขึ้น จึงได้เรียกลูกสาวให้มาดู พบว่าดวงตาทั้ง 2 ข้าง บวมแดงจนไม่สามารถลืมตาได้ และที่บริเวณหน้าผาก ท้ายทอย มีผื่นแดงขึ้นเต็มไปหมด มีน้ำเหลืองไหล จึงรีบให้เพื่อนบ้านพาส่งโรงพยาบาล แพทย์ทำการรักษา และบอกว่าเกิดจากอาการแพ้เพราะโดนสารเคมี



ด้าน ทนายรณณรงค์ กล่าวว่า วันพรุ่งนี้จะพาผู้เสียหาย พร้อมนำกล่องยาย้อมผมยี่ห้อดังกล่าว ไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบยาย้อมผม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 29/8 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าสินค้า หรือบริการใดอาจเป็นสินค้าหรือบริการที่เป็นอันตราย คณะกรรมการว่าด้วยความปลอดภัยอาจออกคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการทดสอบ หรือพิสูจน์สินค้าหรือบริการนั้นได้ และหากผลการตรวจสอบออกมาว่าเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ก็จะมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียกับบริษัทดังกล่าวให้กับผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี ผู้นั้นถือว่าทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินทดแทน

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ