สังคม

ดรามา ‘ไข่ต้ม’ ในหนังสือเรียนภาษาไทย เลขาฯ กพฐ. ชี้ อย่าตีความผิด เสนอด้านดี อย่าด้อยค่า

โดย JitrarutP

24 เม.ย. 2566

272 views

อย่าด้อยค่า! “เลขาฯ กพฐ.” ชี้ กรณีดรามา หนังสือเรียน ชั้น ป.5 เล่าเรื่องการกินไข่ต้มครึ่งซีกเหยาะน้ำปลา ชีวิตมีสุข อยู่อย่างพอเพียง หลายคนตีความผิด อย่าด้อยค่าตรรกะวิบัติจนเข้าใจคลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อหนังสือเรียนและเจ้าของลิขสิทธิ์

จากกรณีหนังสือเรียนภาษาไทยพาที ระดับชั้น ป.5 ที่มีการนำเสนอเรื่อง “ชีวิตมีค่า” โดยในบทความดังกล่าวได้เล่าถึงการกินไข่ต้มครึ่งซีกเหยาะน้ำปลา ทำให้ตัวละครในบทเรียนนั้นมีความสุข เป็นการอยู่อย่างพอเพียง แต่กลับเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งการมองโลกในด้านดีเกินไป และโภชนาการทางด้านอาหารของเด็กว่าไข่ต้มเพียงครึ่งซีกเพียงพอต่อสารอาหารหรือไม่

ต่อมา เมื่อวานนี้ (23 เม.ย. 66) นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าว หนังสือเล่มนี้จัดทำขึ้นสำหรับนักเรียนเพื่อฝึกทักษะและทำให้เกิดการรักการอ่าน เน้นทักษะการอ่าน เขียน ฟัง ดู ผสานกับความเข้าใจลักษณะภาษาไทย เพื่อนำไปสู่การเรียนด้วยตัวเอง กระตุ้นความสนใจ ความสามารถ พัฒนาทักษะทางภาษา เหมาะแก่วัย ชั้นปี และเต็มตามศักยภาพ เป็นพื้นที่การเชื่อมโยงการเรียนรู้ ปลูกฝังวัฒนธรรมทางภาษา ความเป็นไทย ความเป็นคนดีของสังคม




เนื้อหาและภาพที่เป็นประเด็นอยู่ในหนังสือภาษาไทย ภาษาพาที ชั้น ป.5 บทที่ 9 ชีวิตมีค่า เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงกำพร้าชื่อ ข้าวปุ้น ถูกนำมาทิ้งไว้ที่หน้าบ้านเด็กกำพร้า ที่นี่เด็กๆ ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรัก และสอนให้เป็นคนดี คิดดี ทำดี ตั้งใจเรียนเพื่อจะได้มีอาชีพและช่วยเหลือตนเองได้ในอนาคต เด็กๆ ดำเนินชีวิตได้ด้วยเงินบริจาค จึงต้องอยู่อย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น ดูแลซึ่งกันและกัน ทุกคนได้เรียนหนังสือและตั้งใจ เมื่อโตขึ้นมีงานทำ จะได้ช่วยหาเงินมาดูแลน้องๆ ต่อไป

กรณีที่เป็นประเด็นดรามา คนโพสต์ตีความคลาดเคลื่อน ลักษณะใช้ตรรกะวิบัติ เอาเรื่องชีวิตประจำวัน มาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่แต่งขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ถูกชักจูงจากการอ้างการสื่อสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิด สร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของหนังสือเรียน ซึ่งมีลิขสิทธิ์และนำมาใช้กับนักเรียนด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ แต่เกิดกรณีแบบนี้เป็นการด้อยค่า ดูหมิ่นเกลียดชัง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อแบบเรียน และคุณภาพด้านวิชาการของเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นวงกว้างได้

คุณอาจสนใจ