สังคม

สธ.คาดยอดโควิดพุ่งหลังสงกรานต์ แนะสังเกตอาการ - เผยพบโควิด XBB.1.16 ในไทยแล้ว 6 ราย

โดย passamon_a

16 เม.ย. 2566

481 views

เมื่อวันที่ 15 เม.ย.66 ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์จีโนมฯ ได้ติดตามข้อมูลจากจีเสส (GISAID) ที่รวบรวมการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 จำนวน 6 ราย


ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศอินเดีย มีการกลายพันธุ์ตรงส่วนหนามของไวรัสหนึ่งตำแหน่งคือ T547I แต่ทางศูนย์จีโนมฯ ยังไม่มีข้อมูลเชิงลึกว่าผู้ป่วยที่เจอในไทยมีอาการอย่างไรบ้าง แต่ข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า อาการสำคัญของสายพันธุ์ XBB.1.16 คือ ในผู้ป่วยเด็กจะพบอาการ เยื่อบุตาอักเสบ ที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ฉะนั้นจะไม่มีหนอง และลักษณะของการอักเสบก็จะแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อมีข้อมูลดังกล่าว ศูนย์จีโนมฯ จึงอยากให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ข้อมูล และเป็นข้อมูลสำหรับบุคลากรแพทย์ที่ตรวจรักษา อาจต้องสังเกตอาการเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัสเพิ่มเติมด้วย


เมื่อถามว่าช่วงสงกรานต์อาจจะมีประชาชนเล่นน้ำทำให้เจ็บตา จะเกิดความตื่นตระหนกหรือไม่ และจำเป็นต้องตรวจ ATK หลังสงกรานต์หรือไม่ ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า สำหรับอาการสำคัญคือ ไข้สูง อาการหวัด และอาการไอ จากนั้นจะเกิดเยื่อบุตาอักเสบ คันตา ขี้ตาเหนียว ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น แต่ไม่มีหนอง เพราะไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย และได้เน้นย้ำว่า ประเทศที่พบสายพันธุ์ XBB.1.16 มาก แต่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้า รพ. ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นตาม


อย่างไรก็ตาม การแจ้งเตือนก็เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ยิ่งประชาชนตระหนักรู้มากเท่าไหร่ การเจ็บป่วยก็จะน้อยลง ส่วนการตรวจ ATK หลังสงกรานต์ สามารถตรวจได้ตามความจำเป็น เพราะสถานการณ์ติดเชื้อในไทยอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีการติดเชื้อประปรายแต่ผู้ป่วยที่ต้องเข้า รพ. ยังมีจำนวนน้อย


ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics โดย ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความระบุว่า "ด่วน! ระวังการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อแล้ว 6 ราย นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อ XBB.1.16.1 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดในอินเดียแล้วในไทย 1 ราย ด้วยการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมที่ดึงมาจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก GISAID โดยทีมวิจัยของ ดร.ราช ราชนรายานันท์ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอาร์คันซอ สหรัฐอเมริกา โดย XBB.1.16.1 จะมีการกลายพันธุ์ต่างจาก XBB.1.16 ตรงส่วนหนามของไวรัสหนึ่งตำแหน่งคือ T547I


ในขณะเดียวกัน ดร.วิพิน ม.วาชิษฐา (Dr. Vipin M. Vashishtha) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันจากประเทศอินเดีย และเป็นผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในเด็กเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่ง ดร.วาชิษฐา ได้สังเกตเห็นอาการจากการติดเชื้อโอมิครอนลูกผสม XBB.1.16 ที่แพร่ระบาดระลอกใหม่ในอินเดีย ในกลุ่มเด็กทารกจะพบมีอาการไข้สูง อาการหวัด และอาการไอ จากนั้นพบอาการเด่นคือมีเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการคันตา ขี้ตาเหนียว ทำให้ลืมเปลือกตาไม่ขึ้น แต่ไม่ได้เป็นหนอง (เพราะติดเชื้อไวรัสไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย) ซึ่งไม่เคยพบอาการลักษณะนี้ในโอมิครอนสายพันธุ์อื่น


แม้จะมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน XBB.1.16 เพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. ยังไม่เพิ่มขึ้นตามจนเกินขีดความสามารถที่ระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศจะรองรับได้"


ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ ว่า เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่า ช่วงสงกรานต์จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการทำกิจกรรมร่วมกัน มีการเดินทาง จึงมีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อได้ เท่าที่รับรายงานตาม รพ.มีผู้ป่วยโควิดเข้ามารักษาเพิ่มขึ้น แต่อาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนมาแล้ว บางคนเคยติดเชื้อมาแล้ว ทำให้ยังมีภูมิคุ้มกันอาการจึงไม่หนัก อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าน่าจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นแน่นอน คาดว่าจะมากกว่าช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา


"จากภาพข่าวผ่านสื่อ จะเห็นผู้คนออกมาสนุกสนานร่วมกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์จำนวนมาก ใกล้ชิดผู้คนที่ไม่รู้จัก ขณะนี้ก็ผ่อนคลายมาตรการ ไม่ได้มีการตรวจเชื้อก่อนเข้าทำกิจกรรม เป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการติดเชื้อได้ แต่มองในแง่บวก คนที่ออกมาเล่นสงกรานต์ส่วนใหญ่เป็นเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน น่าจะยังมีภูมิคุ้มกันที่ดี"


นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ข้อแนะนำหลังสงกรานต์ ให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตัวเองภายใน 7 วัน หลีกเลี่ยงสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ถ้าเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้ตรวจ ATK หากผลเป็นบวกให้ปรึกษาแพทย์รักษาตามสิทธิ ไม่แนะนำตรวจ ATK ขณะที่ยังไม่มีอาการ ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ระบบการรักษาเตรียมพร้อมรองรับแล้ว มียา เวชภัณฑ์ เตียงเพียงพอ ไม่เกินศักยภาพของ รพ.ที่จะรองรับแน่นอน    


ส่วนกรณีนักวิชาการระบุถึงสายพันธุ์โควิดลูกผสม XBB.1.16 ที่มีการแพร่มากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอินเดีย มีสมรรถนะการแพร่สูงขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่น ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน นพ.โสภณ กล่าวว่า XBB.1.16 ยังเป็นลูกหลานโอมิครอน ไม่เหมือนสายพันธุ์ในอดีตที่เป็นตัวต้นตระกูลที่กลายพันธุ์ ทั้งอู่ฮั่น อัลฟา เบตา เดลตา ดังนั้นวัคซีนที่ฉีดยังป้องกันการป่วยหนักได้แน่นอน แม้จะไม่สามารถป้องกันติดเชื้อได้ 100 % ดังนั้น จึงรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง


ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/rJAKddj64OE

แท็กที่เกี่ยวข้อง  โควิดไทย ,โควิดXBB.1.16 ,XBB.1.16

คุณอาจสนใจ