สังคม

ตำรวจเตือนระวังถูกหลอกขาย ‘เครื่องฟอกอากาศ’ เหยื่อโดนเพียบ เสียหาย 13 ล้าน

โดย JitrarutP

3 เม.ย. 2566

315 views

โดนกันเพียบ! “ตำรวจไซเบอร์” เตือนระวังถูกหลอกขาย “เครื่องฟอกอากาศ” ในช่วงสถานการณ์หมอกควันและฝุ่น PM 2.5 พบมูลค่าความเสียหายแล้วกว่า 13  ล้านบาท

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอเรียนประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชน กรณีมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้าผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอกลวงขายเครื่องฟอกอากาศในช่วงสถานการณ์หมอกควันและฝุ่น PM 2.5 

ได้รับรายงานจากกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) พบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์กว่า 1,500 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 13 ล้านบาท เฉลี่ยได้รับความเสียหายประมาณ 8,600 บาทต่อราย ตัวอย่างสินค้าที่มักถูกหลอกลวง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ ผลไม้ บัตรคอนเสิร์ต รถจักรยานยนต์มือสอง เสื้อผ้า และปลาแซลมอน เป็นต้น




โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามที่มีสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่มิจฉาชีพกลับฉวยโอกาสใช้สถานการณ์ดังกล่าวสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกลวงประชาชนขายเครื่องฟอกอากาศยี่ห้อต่างๆ ประกอบกับมีการยิงโฆษณาเพื่อเข้าถึงประชาชนที่สนใจ มีการคัดลอกรูปภาพ เนื้อหาคุณสมบัติ และวิธีการใช้งานของเครื่องฟอกอากาศ จากช่องทาง หรือเว็บไซต์ทางการที่มีการซื้อจริง นอกจากนี้แล้วยังมีการจัดโปรโมชันลดราคาขายถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป รวมไปถึงการใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์หน้าม้า หรืออวตารโพสต์รีวิวสินค้า และแสดงความเห็นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย


ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง



ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ



โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการสร้างความเสียหาย และซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน โดยที่ผ่านมาถือว่าเป็นภัยที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นอันดับที่ 1 ทั้งนี้ บช.สอท. ได้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มีปฏิบัติการที่สำคัญหลายครั้ง อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงแม้จะมีข้อดีหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะสะดวกสบาย มีให้เลือกหลากหลาย สามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าแต่ละแหล่งได้ ติดตามโปรโมชันต่างๆ ได้ ที่สำคัญสามารถสั่งซื้อได้ตลอดเวลา แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ


จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

- ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน โดยเฉพาะสินค้ามีมูลค่าสูง ควรซื้อจากร้านค้าที่เป็นทางการเท่านั้น

- ระมัดระวังการซื้อสินค้าราคาถูก จำไว้ว่า ของฟรีไม่มีในโลก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล

- ระมัดระวังเพจเฟซบุ๊กปลอม หรือลอกเลียนแบบ โดยเพจเฟซบุ๊กจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และมีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจน อย่างน้อยต้องสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามได้

- ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อขายสินค้าใดมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่

- ตรวจสอบว่ามีสินค้าจริงหรือไม่ โดยขอดูภาพหลายๆ มุม สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ผลิตจากที่ใด เงื่อนไขการรับประกัน วิธีการใช้งาน เป็นต้น

-  ตรวจสอบการรีวิวสินค้า ผู้ที่เคยสั่งซื้อได้รับสินค้าหรือไม่ คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร ระวังการรีวิวปลอม ควรตรวจสอบตัวตนผู้รีวิวว่าเป็นอวตารหรือไม่

- ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, Blacklistseller เป็นต้น

- เมื่อชำระเงินแล้ว ควรติดตามการจัดส่งจากผู้ซื้อ หรือขอดูหลักฐานการส่งสินค้า เพื่อยืนยันว่าส่งสินค้าให้จริง

- กรณีการจ่ายเงินปลายทาง ควรเปิดตรวจสอบสินค้าก่อนชำระเงิน ตรวจสอบว่าชำรุด ตรงกับที่สั่งหรือไม่

- กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ

- หากสินค้ามีปัญหาให้รวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ข้อความการสนทนา หลักฐานการชำระเงิน คำสั่งซื้อสินค้า แล้วติดต่อกับผู้ขายให้แก้ไขปัญหา ส่งสินค้าคืน หรือเคลมสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด


คุณอาจสนใจ