สังคม
เลื่อนอ่านฎีกาครั้งที่ 8 คดีธาริต-พวก ผิดม.157 แจ้งข้อหาอภิสิทธิ์-สุเทพ สั่งฆ่าปชช.
โดย nutda_t
24 มี.ค. 2566
331 views
วันนี้ (24 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายธาริต เพ็งดิษฐ์ กับพวก พร้อมทนายได้เดินทางมาศาล เพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 8 ในคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง” กรณีดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ที่ห้องพิจารณา 809 โดยมี นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) เดินทางมาร่วมฟังการตัดสินในวันนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาได้มีการต่อสู้คดีมาจนถึงชั้นศาลฎีกา โดยก่อนหน้านี้ศาลฎีกาได้มีนัดฟังคำพิพากษาแล้ว แต่ นายธาริต ได้ขอเลื่อนการเข้าฟังศาลอ่านคำพิพากษาศาล 7 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าป่วยและต้องเข้ารับการรักษา จนกระทั่งวันที่ 2 ก.พ. 2566 นายธาริต ได้ขอเลื่อนฟังการเข้าฟัง ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนี้อีกครั้ง โดยแจ้งว่าเนื่องจากต้องผ่าตัดนิ่วในไต โดยแพทย์ให้รักษาและรอดูอาการเป็นเวลา 3 เดือน แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายธาริต จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาฎีกาโดยอ้างว่าป่วยมาแล้วหลายครั้งนานกว่า 1 ปี มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า และมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับนายธาริต เพื่อให้มาฟังคำพิพากษาฎีกาในวันนี้
โดยทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกา เพื่อพิจารณาสั่งให้ส่งคำร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรับปรามการทุจริต มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทกฎหมาย ที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคแรก มาตรา 26 ,27 ,29 วรรคแรก ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับกับคดีไม่ได้ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มี.ค. 2566
จําเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การฉบับเดิมและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอด ข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกา ในการลงโทษจําเลยที่ 1 สถานเบา หรือรอการลงโทษจำเลยที่ 1
ทนายโจทก์ที่ 1-2 แถลงคัดค้านร่วมกันว่า คดีนี้มีการเลื่อนการอ่าน คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกามาแล้วหลายครั้ง เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จำเลยที่ 1 เป็นนักกฎหมายประกอบวิชาชีพกฎหมาย โดยใช้วิชากฎหมายมาโดยตลอด ย่อมต้องทราบดีว่าเมื่อ มีการนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องขอส่งสำนวนกลับคืนศาลฎีกาโดยอ้างเหตุที่ไม่เป็น สาระสำคัญแก่คดี การที่จำเลยที่ 1 ขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกาจึงเป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลใช้บังคับ
แต่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 ดังนั้น มาตรา 157 จึงไม่ใช่กฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี อันจะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เป็นการถอนคำให้การและให้การใหม่ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงล่วงเลยระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นการให้การไปโดยจำนนต่อหลักฐานและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงไม่ควรมีเหตุที่จะบรรเทาโทษให้จำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้การดำเนินกระบวนพิจารณาล่าช้า และป้องกันการประวิงคดีโดยการยื่นคำร้องต่าง ๆ ที่ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาสั่ง เข้ามาก่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา ทนายโจทก์ที่ 1-2 จึงขอให้ศาลฎีกาเป็นผู้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้เอง
โดยทนายโจทก์ที่ 2 แถลงเพิ่มเติมว่า เคยรับหน้าที่เป็นทนายความให้กับคู่ความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1166/2558 ของศาลนี้ ซึ่งในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาของศาลสูงหลายครั้ง ในลักษณะทำนองเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ศาลฎีกาจึงได้มีคำสั่งเรียก คืนสำนวนและของคำพิพากษาทั้งหมดจากศาลชั้นต้นและดำเนินการอ่านคำพิพากษาเองที่ศาลฎีกา เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน จึงขอให้ศาลฎีกาเป็นผู้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ เช่นเดียวกับในคดีดังกล่าวด้วย
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์การส่งคำโต้แย้งของคู่ความต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่ง กฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น ศาลที่มีอำนาจส่งคำโต้แย้งของคู่ความดังกล่าวต้องเป็น ศาลที่จะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งคู่ความโต้แย้งบังคับแก่คดี เมื่อปรากฏว่าคดีนี้อยู่ในระหว่าง การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคำร้องดังกล่าว ประกอบกับ จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาคำรับสารภาพประกอบการใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาคดีในการลงโทษ จำเลยที่ 1 กรณีไม่อาจอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาไปในวันนี้ได้ จึงให้ส่งสำนวน พร้อมคำร้องคำให้การของจำเลยที่ 1 และซองคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา ไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว จึงมีคำสั่งให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลฎีกาเป็นวันที่ 16 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น.
แท็กที่เกี่ยวข้อง