สังคม

เปิดราคาประเมินค่ารับกำจัดกากสารเคมีอุตสาหกรรม เป็นเงินกว่า 21 ล้านบาท

โดย parichat_p

14 มี.ค. 2566

438 views

จากการประเมินค่าใช้จ่ายเพื่อนำกากสารเคมี ที่ปนเปื้อนแหล่งน้ำรอบๆโกดังไปกำจัด เบื้องต้นเป็นเงินกว่า 21 ล้านบาท โดยไม่รวมสารเคมีอีกว่า 4 พันตันในโกดังนั้น ทำให้เกิด คำถามถึงรายได้หรือเงินที่หมุนเวียนของผู้ประกอบการรายนี้ว่า เมื่อได้เงินค่าจ้างในการรับสารเคมีไปกำจัดแล้ว เหตุใดสารเคมีจึงยังถูกลักลอบทิ้ง จนนำมาสู่มาตรการ ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เตรียมออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ขยายความรับผิด ของกากบริษัทต้นกำเนิดกากอุตสาหกรรม ให้ครอบคลุมไปถึงการนำไปกำจัดที่ถูกต้อง


ตารางต่อไปนี้เปรียบเทียบให้เห็นตัวอย่างค่าดำเนินการรับกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมในกลุ่มสารเคมีอัตรายหรือกิจการประเภท 106 ที่บริษัทผู้ก่อกำเนิดกาก ต้องจ่ายให้บริษัทผู้รับกำจัดกาก นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง


ราคากำจัดทั่วไปเช่น กรดไนตริก /และฟูริก ตันละ 6 พันบาทขึ้นไป / กรดเกลือเสื่อมสภาพ ตันละ 5,300 บาท /กากตะกอน ตันละ 2,500 บาท กากสี ตันละ 2,500 ด่างเสื่อมสภาพตันละ 3,500 บาท ตะกัน ตันละ 3,500 น้ำชุบโครเมี่ยม ตันละ 3,500 บาท ภาชนะปนเปื้อนต้นละ 3,500 บาท


ตัวอย่างชนิดกาก และราคานี้ข่าว 3 มิติ ได้มาจากหลายบริษัทกิจการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ต้องจ่ายในราคาปกติ เปรียบเทียบกับบางกลุ่มบริษัท ที่รับมาในราคาที่ถูกกว่า หรือเรียกว่าตัดราคา เช่นกรดไนตริก ตันละ 2 พันบาท/กรดเกลือเสื่อมสภาพตันละ 2 พัน/กากตะกอน ตันละ 1,200 /กากสีตันละ1500/ด่างเสื่อมสภาพตันละ 2,000 ตะกรัน ตันละ 2,000 น้ำชุบโครเมี่ยมตันละ 2,000 และภาชนะปนเปื้อนตันละ 1,500


ค่าขนส่งกากไปกำจัดขึ้นอยู่กับน้ำหนักและระยะทาง เช่นขนส่งกรดเสื่อมสภาพ 10 ตัน จากระยอง มาอยุธยา ค่ารถเที่ยวละ 1 หมื่นบาท / ลำเลียงได้ 10 ตัน /ตันละ 2 พันบาท เป็นเงิน 2 หมื่นบาท รวมเงินค่ารถและกำจัดเป็นเงิน3 หมื่นบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์


ต้นทุนค่าขนส่งของบริษัทสองกลุ่มไม่ต่างกัน เพราะตัวแปรคือน้ำหนัก/ ระยะทาง และค่าน้ำมัน /แต่ที่ต่างกันคือ ราคาต่อตันของชนิดสารเคมี ที่นำรับมากำจัด ซึ่งกลุ่มที่รับบริการแบบตัดราคา อาจจะถูกเลือกจากบริษัทให้ก่อกำเนิดกากมากกว่า เพราะเห็นว่ามีค่าบริการที่ถูกกว่าหากเทียบกับราคาปกติ แต่แท้จริงทั้งสองกลุ่มบริษัท ยังต้องมีต้นทุนค่านำไปกำจัดหรือบำบัดให้ถูกต้องตามข้อกำหนดในใบอนุญาตการตั้งกิจการประเภท 106 นี้


ปัญหาที่พบคือมีบางกลุ่มบริษัทที่รับมาในราคาถูก เพื่อแลกกับการถูกว่าจ้างจากบริษัทต้นกำเนิดกากมากขึ้น แต่เมื่อรับมาแล้วนำไปทิ้งโดยไม่กำจัดหรือบำบัดอย่างถูกต้อง เพื่อลดรายจ่ายในการบำบัด แต่สร้างปัญหาให้สภาพแวดล้อม


นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญ ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม กำลังแก้ไขประกาศกระทรวง จากเดิบริษัทผู้กำเนิดกากจะหมดรับความผิด ก็ต่อเมื่อกากนั้นถึงมือบริษัทผู้รับกำจัด แต่จากนี้ไปบริษัทผู้ก่อกำเนิดกาก ต้องรับผิดชอบจนกว่ากากนั้นจะถูกกำจัดอย่างถูกต้อง มาตรการนี้คาดว่าจะประกาศใช้ภายในเดือนนี้


นอกจากขยายความรับผิดชอบบริษัทผู้ก่อกำเนิดกากแล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างเสนอแก้ไข พรบ.โรงงาน ในประเด็นเพิ่มโทษความผิด จากเดิมผู้ทิ้งกาก จะมีความผิดตามมาตรา 45 พรบ.โรงงานมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ไม่มีโทษจำคุก มีอายุความอาญาเท่ากับ1 ปี


แต่จะแก้ไข โดยเพิ่มโทษการทิ้งกากอุตสาหกรรม ซึ่งข่าว3มิติได้ข้อมูลว่า โทษจำคุกที่จะเพิ่มอาจจะไม่เกิน 2 ปี ซึ่งจะมีผลทำให้อายุความคดีอาญาเพิ่มจาก 1 ปี เป็น 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 ซึ่งจะทำให้การดำเนินคดีอาญาผู้ทิ้งกากอุตสาหกรรมีอายุคดีเพิ่มขึ้นด้้วย


ขณะเดียวกัน ก็จะแก้ไขพรบ.โรงงานเพื่อตั้งกองทุนอุตสาหกรรม เพื่อเงินมาใช้แก้ปัญหาผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้ก่อน ในระหว่างที่ฟ้องร้องจากผู้ก่อมลพิษ โดยไม่ต้องของบกลางจากรัฐบาล


จากตัวเลขค่ากำจัดกากที่คุณมนตรี อ้างถึง หากคำนวณว่าบริษัทนี้คิดค่ากำจัดกากเฉลี่ยะตันละ 2 พันบาท ในโกดังนี้มีสารเคมี 4 พันตัน ก็เท่ากับว่าน่าจะได้เงินมาแล้ว 8 ล้านบาท ยังไม่นับรวมว่ามีกากขยะที่ถูกทิ้งไปก่อนหน้านี้ และที่เก็บไว้ในโกดังอื่นๆ รวมถึงยังไม่นับรวมว่าเคยประกอบกิจการนี้มาแล้วอย่างน้อย 5 ปี หากไม่มีต้นทุนในการนำไปกำจัดหรือบำบัดอย่างถูกต้อง ก็น่าจะมีเงินเหลือมากพอที่จะนำสืบทรัพย์ ให้กลับไปแก้ไขปัญหาที่โกดังนี้ได้

คุณอาจสนใจ