สังคม
ถอดบทเรียน 10 ปี กระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้ เสนอข้อเรียกร้องต่อผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียคนใหม่
โดย panisa_p
28 ก.พ. 2566
129 views
สมัชชาสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ถอดบทเรียน 10 ปีกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียคนใหม่ ที่ลงพื้นที่ครั้งแรก ยืนยันว่ารัฐบาลมาเลเซีย จริงใจที่จะสนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติภาพของไทย ขณะที่คณะพูดคุยของไทย ยืนยันการสร้างสันติสุข เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นก็คาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ด้วย
ศาสตราจารย์ พลเอก ตันศรี ซุลกิฟลี โซนัล อะบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี ร่วมละหมาดกับประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการลงพื้นที่ครั้งแรก หลังได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา
และเข้าร่วมปาฐกถาพิเศษ 10 ปีกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จัดโดยสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี โดยศาสตราจารย์ พลเอก ตันศรี ซุลกิฟลี โซนัล อะบิดิน เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวเองเพื่อสร้างความสนิทสนมและสัมพันธภาพที่ดีในการเริ่มต้นทำงานตามที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซียมอบหมายเพราะไทยเป็นเพื่อนบ้านและมิตรที่ดี และมีความตั้งใจจริงที่จะใช้ความรู้ความสามารถ ที่แม้จะเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังแห่งมาเลเซีย คนที่ 20
แต่อีกบทบาทหนึ่งก็เป็นศาสตราจารย์ และรองอธิบการบดีมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศแห่งมาเลเซีย ที่ทำงานทางวิชาการใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เป็นสถาบันการเรียนรู้ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย จึงเชื่อมั่นว่าจะใช้ความรู้ที่เชี่ยวชาญด้านสงครามและความขัดแย้งมาใช้ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพราะแม้จะเป็นทหารแต่จิตใจและความสนใจใกล้ชิดโลกวิชาการ และยังเป็นหัวหน้าหมวดความมั่นคงและการป้องกันประเทศ สถาบันศาสตราจารย์แห่งประเทศมาเลเซียด้วย
ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย กล่าวด้วยว่านับจาการประชุมเมื่อวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าเชิงบวกในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น ที่บรรลุข้อตกลง Jcpp เป็นตัวกำหนดทิศทางการทำงานในปี 2566-2567 ที่จะเป็นแสงสว่างแห่งความหวังเพื่อสันติภาพของประชาคมปาตานี
โดยมีระยะเวลาปฏิบัติ ระยะแรกในการพูดคุยเพื่อลดความรุนแรงและการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ระยะที่สองเป็นระยะปฏิบัติการในสนามหลังสองฝ่ายบรรลุข้อตกลง ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก จึงอยากแสดความบริสุทธิ์ใจที่จะทำงานอย่างเป็นกลางกับทุกฝ่าย โดยเน้นการสร้างสันติภาพที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับมนุษยธรรม ขยายการมีส่วนร่วม เพื่อบรรลุสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายจะเป็นผู้ชนะได้
ดร.พลเทพ ธนโกเศศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวปาฐกถาพิเศษแทน พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยของไทย โดยยืนยันว่า การสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เป็นกฏหมายและนโยบายในยุทธศาสตร์ชาติ และเดินมาถึงจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับได้แล้ว และยังต้องทำให้คลอบคลุมกับทุกภาคส่วน รวมถึงบทบาทผู้หญิง จึงต้องขอบคุณมาเลเซียที่เข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและเดินไปตามแผน JCPP ที่ได้ตกลงร่วมกันล่าสุด
ขณะที่อุสตาส อานัส อุบดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ BRN กล่าวปาฐกถาพิเศษ 10 ปีของการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเริ่มต้นจากฉันทามติทั่วไปที่รัฐบาลไทยในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงนามร่วมกับบีอาร์เอ็นเป็นครั้งแรก กลายเป็นประวัติศาสตร์ในการเจรจาระหว่างนักต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี แต่ต้องยุติไปและกลับมาเริ่มพูดคุยใหม่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นสิ่งยืนยันว่าการเจรจาเพื่อสันติภาพเป็นทางเลือกหรือวิธีที่ถูกต้องที่สุด ในการแก้ไขความขัดแย้งหรือข้อพิพาท ซึ่งคาดหวังว่าข้อตกลงล่าสุดระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เป็นรูปธรรม และเป็นก้าวแรกของทศวรรษที่จะสร้างสันติภาพที่แท้จริงให้เกิดกับประชาชาติปาตานีให้ได้
สมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ที่เป็นการทำงานร่วมกันของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ โดยนายอับดุลการีม อัสมะแอ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมกันยื่นข้อเสนอต่อกระบวนการสันติภาพกับผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย และคณะพูดคุยทั้งฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็น โดยคาดหวังจะเห็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และพัฒนาการของสันติภาพชายแดนใต้ ที่ผ่านมาแล้ว 10 ปี
แท็กที่เกี่ยวข้อง กระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้ ,เสนอข้อเรียกร้อง ,สมัชชาสันติภาพ ,ปาตานี