สังคม

แพทย์ ม.มหิดล แนะควรใช้คาร์ซีทเมื่อเด็กโดยสารบนรถ ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุเด็กเสียชีวิต

โดย kanyapak_w

21 ก.พ. 2566

81 views

จากกรณีอุบัติเหตุ รถกระบะป้ายแดงพุ่งชนขอบทางด่วนกาญจนาภิเษก เป็นเหตุให้เด็ก 6 ขวบที่โดยสารมาด้วยกระเด็นตกทางด่วนเสียชีวิต ทาง รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดลและหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ออกมาแถลงข่าว ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาทางสถาบันมีการเรียกร้องและรณรงค์การใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (คาร์ซีท) แม้จะ มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ไปแล้ว






จากพระราชบัญญัติจราจรทางบกฉบับที่ 13 พุทธศักราช 2565 โดยกำหนดให้ผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกินหกปีต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตรายหรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรวมถึงผู้โดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตรต้องรัฐร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งหรือมีวิธีป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใดหากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่มีการบังคับชัดเจนเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการ พิจารณา ร่างข้อกฎหมายรองรับส่วนอื่นๆอยู่





เข็มขัดนิรภัยภายในรถยนต์ไม่ได้มีการออกแบบมาให้คาดพอดีกับช่วงความสูงของเด็ก ที่ต่ำกว่า 135 เซนติเมตร จึงมีความจำเป็นต้องใช้เบาะเสริมหรือที่นั่งนิรภัย โดยคำแนะนำของของทางสถาบันฯ มองว่า เด็กแรกเกิด จนถึง 2 ขวบ ต้องให้ที่นั่งนิรภัยแบบที่ติดตั้งหันหลังกับด้านหน้ารถ




เด็กเล็ก 2 ขวบจนถึงเจ็ดขวบต้องใช้ที่นั่งนิรภัยที่เหมาะตามช่วงอายุและหันหน้ามาทางเดียวกับหน้ารถ




ส่วนเด็กที่อายุมากกว่าเจ็ดขวบจนถึง 12 ขวบสามารถใช้เบาะเสริม/ที่นั่งเสริมเพื่อให้คาดเข็ม ขัดนิรภัยของรถได้พอดีช่วงตัว




ซึ่งในกรณีอุบัติเหตุครั้งนี้ ตามปกติเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รถที่ขับมาด้วยความเร็ว แล้วเกิดการกระแทก ผู้โดยสารภายในรถก็จะมีแรงขับให้เกิดการกระเด็นเท่าความเร็วรถ โดยเฉพาะเด็ก ทั้งนี้หากผู้โดยสารซึ่งเป็นเด็ก 6 ขวบนั่งใน เบาะนั่งนิรภัยที่มีเข็มขัดนิรภัยยึด เมื่อเกิดอุบัติเหตุทีมีแรงกระแทกรุนแรง ร่างกายของเด็กก็จะยังคงถูดรัดไว้กับที่นั่งอยู่ ไม่พุ่งหรือกระเด็นออกนอกรถ





รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า อยากฝากให้ทางผู้ประกอบการจำหน่ายรถควรเพิ่มข้อแนะนำหรือมีป้ายกำกับที่บริเวณเข็มขัดนิรภัยที่ชัดเจนว่า เข็มขัดนิรภัยชุดนี้ไม่เหมาะกับผู้ใช้ที่อายุต่ำกว่า 9 ปี เพื่อให้ผู้ซื้อได้ตระหนักและพิจารณาจัดหาอุปกรณ์นิรภัย/ที่นั่งนิรภัย/ที่นั่งเสริมเพิ่มเติม เพื่อความปลอดภัยของเด็กในการโดยสาร





ซึ่งสำหรับรถ 4 ที่นั่ง สามารถติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยได้ทุกรุ่นทั้ง กระบะ4 ประตู และรถยนต์เก๋ง แต่รถกระบะแคป แนะนำให้ติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กในส่วนเบาะหน้าแต่ต้องไม่มีถุงลมนิรภัยในจุดนั่น หากเกิดอุบัติเหตุหากมีถุงลมนิรภัยจะเกิดการกระแทกได้




และขอแนะนำผู้ปกครองที่จะต้องมีเด็กหรือบุตรหลานร่วมโดยสารในรถ ไม่ควรอุ้มเด็กนั่งตักในเบาะหน้าเพราะหากเกิดอุบัติเหตุระยะห่างของตัวเด็กกับคอนโทรลรถน้อยกว่า 25 เซนติเมตรจะเกิดการกระแทก เด็กอายุต่ำกว่า 13ปี ควรนั่งเบาะหลังเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงการตายได้ 2 เท่า ตัว และเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีต้องนั่งที่นั่งนิรภัยเสมอเมื่อโดยสารรถ




สถิติเด็กที่เสียชีวิตในระหว่างปี 2560 ถึง 2564 ช่วงอายุ 0-6 ปีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 1,155 คนในจำนวนนี้มี 221 คนเกิดจากการโดยสารรถยนต์หรือรถที่สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้หรือมีเด็กเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 44 คนจากอุบัติเหตุที่ไม่ได้มีการ ใช้ที่นั่งนิรภัยเข็มขัดนิรภัย ส่วนการสำรวจพฤติกรรมการโดยสารพบว่ามีเด็กไทยเพียงร้อยละ 3.46 ที่ใช้ที่นั่งนิรภัย




แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ